กรมวิชาการเกษตร ปลื้มเทคโนโลยีปลูกมะพร้าวน้ำหอมในพื้นที่ดินเค็มให้ผลผลิตคุณภาพรสชาติหอมหวาน

share to:

Facebook
Twitter
doa dg

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินโครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2552 เพื่อเผยแพร่หลักการทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ และเป็นศูนย์ต้นแบบเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตร ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วไป โดยพื้นที่ดำเนินโครงการศูนย์เรียนรู้การผลิตพืชตามแนวพระราชดำริฯ นี้ เริ่มต้นจากพื้นที่ประสบปัญหาดินเค็มทั้งหมดจำนวน 14 ไร่ ระดับความเค็มของดินในพื้นที่อยู่ในช่วง “เค็มน้อยถึงเค็มมาก” ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกพืชทั่วไปอย่างรุนแรง และการแก้ไขปัญหาดินเค็มยังต้องใช้ต้นทุนสูง

01

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาดินเค็มสามารถทำได้หลายวิธีแต่วิธีการหนึ่งที่ไม่ยุ่งยากและลงทุนต่ำ คือการปลูกพืชทนเค็มจัดหรือพืชชอบเกลือที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดินเค็มให้เกิดศักยภาพในการผลิตพืชได้อีกด้วย

นายขจรวิทย์ พันธุ์ยางน้อย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 4 จังหวัดอุบลราชธานีกล่าวว่า เนื่องจากความเค็มของดินทำให้ไม่สามารถปลูกพืชทั่วไปได้ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโนนสูงจึงได้คัดเลือกพืชที่เหมาะสมกับดินเค็ม จากการศึกษาพบว่า มะพร้าวน้ำหอม เป็นพืชที่สามารถเจริญเติบโตและให้ผลผลิตที่ดีในพื้นที่ดินเค็ม จึงได้นำพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม “ก้นจีบ” จากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรมาทดลองปลูกในพื้นที่โครงการศูนย์เรียนรู้ฯ ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากมะพร้าวน้ำหอมไม่เพียงสามารถตอบสนองต่อดินเค็มได้ดี แต่ยังให้ผลผลิตที่มีคุณภาพรสชาติหอมหวานกว่าการปลูกในพื้นที่ปกติ วัดค่าความหวานได้เฉลี่ย 7.5-9 องศาบริกซ์ ซึ่งอาจเนื่องมาจากพืชที่ทนเค็มจะหลีกเลี่ยงการดึงโซเดียมไปใช้ทำให้ดึงโพแทสเซียมไปใช้ได้มากขึ้น โดยประโยชน์ของโพแทสเซียม จะช่วยสังเคราะห์น้ำตาล แป้ง และโปรตีน ส่งเสริมการเคลื่อนย้ายของน้ำตาลจากใบไปยังผลในขณะที่บางพื้นที่มีการปลูกมะพร้าวน้ำหอมเกษตรกร จะโรยเกลือบริเวณรอบ ๆ โคนต้นเพื่อเพิ่มความหวาน อีกทั้งในเทคโนโลยีการผลิตมะพร้าวน้ำหอมของกรมวิชาการเกษตรแนะนำให้ใส่ปุ๋ย 13-13-21 ร่วมกับ แมกนีเซียมซัลเฟต จะเห็นว่าการผลิตมะพร้าวน้ำหอมนั้นเกลือมีส่วนสำคัญอย่างมาก ซึ่งในลักษณะของพื้นที่ดินเค็มอาจไม่จำเป็นต้องโรยเกลือ หรือใส่แมกนีเซียมซัลเฟต เนื่องจากในลักษณะดินเค็มจะมีแมกนีเซียมอยู่ในรูปของซัลเฟตเป็นองค์ประกอบอยู่แล้ว

02

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล สามารถอ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.agrinewsthai.com/agricultural-technology/184868