Search
Close this search box.

วธ.ร่วม 25 จังหวัด เปิดยิ่งใหญ่ งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ ภาคกลางและภาคตะวันออก ดนตรี สานศิลป์ 2 ถิ่นวัฒนธรรม

share to:

Facebook
Twitter

วธ.ร่วม 25 จังหวัด เปิดยิ่งใหญ่ งานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ ภาคกลางและภาคตะวันออก “ดนตรี” สานศิลป์ 2 ถิ่นวัฒนธรรม สัมผัสเสน่ห์วิถีถิ่น วิถีไทย “ชม” การแสดงทางวัฒนธรรม นิทรรศการมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ช้อปผลิตภัณฑ์ชุมชนไทย CCPOT ตลาดต้นไม้ และตลาดพระเครื่อง กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน พร้อมหนุน “สุพรรณ” เป็นเมืองสร้างสรรค์ ด้านดนตรีต่อยูเนสโก

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2566 เวลา 18.30 น. นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ภาคกลางและภาคตะวันออก “ดนตรี” สานศิลป์ 2 ถิ่นวัฒนธรรม โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ

อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ผู้บริหาร ศิลปินแห่งชาติ วัฒนธรรมจังหวัด 25 จังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก หน่วยงานในสังกัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาวัฒนธรรม ศิลปินพื้นบ้าน เครือข่ายทางวัฒนธรรม นักท่องเที่ยว ประชาชนและสื่อมวลชน เข้าร่วม โดยนายณัฐภัทร สุวรรณประทีป ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี กล่าวต้อนรับ ณ วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมืองสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี

รมว.วธ กล่าวว่า งานดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อเป็นการสร้างรายได้ ส่งเสริมสนับสนุนภูมิปัญญาพื้นบ้าน ให้มีพื้นที่ในการนำเสนอคุณค่าของงานศิลปวัฒนธรรมของไทย สร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม รวมทั้งเพิ่มบทบาทของหน่วยงานทางวัฒนธรรมในพื้นที่ในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของชาติและท้องถิ่น ให้เป็นที่รับรู้อย่างกว้างขวาง

รวมถึงเสริมฐานรากวัฒนธรรมให้เข้มแข็ง ยกระดับมหกรรมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้เป็นระดับชาติ ตามนโยบายส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ระบบเศรษฐกิจฐานรากในระดับชุมชนและท้องถิ่น สนับสนุนนโยบายโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG ของรัฐบาล ร่วมผลักดัน “Soft Power” เพื่อส่งเสริมความเป็นไทยและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โดยเฉพาะด้านเทศกาลและประเพณี สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับศิลปินและชุมชน อีกทั้งเป็นการเตรียมความพร้อมของจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อเข้ารับการพิจารณาเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (ด้านดนตรี) องค์การยูเนสโก

กิจกรรมภายในงานพบกับขบวนแห่วิถีวัฒนธรรมและขบวนแห่เบญจภาคี พิธีถวายผ้าหลวงพ่อโต การแสดงในพิธีเปิดงาน ชุด สุพรรณบุรีเมืองสร้างสรรค์ สานศิลป์ ถิ่นวัฒนธรรม พลาดไม่ได้กับแสดงดนตรีนำโดยอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) ประจำปี พ.ศ. 2539 และเปาวลี พรพิมล นักร้องเพลงลูกทุ่งชื่อดังแห่งเมืองสุพรรณบุรี ร่วมสร้างความประทับใจในพิธีเปิดงานในครั้งนี้

นอกจากนั้น ยังมีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ชมนิทรรศการ “ศิลป์สร้างสุขสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์” นิทรรศการ “เส้นทาง 9 วัด” ฯลฯ ตื่นตาตื่นใจไปกับการแสดงศิลปวัฒนธรรมจาก 25 จังหวัด ภาคกลางและภาคตะวันออก การแสดงดนตรีโซนงานเบญจภาคี ดนตรีสุพรรณ ได้แก่ กิจกรรมสร้างการรับรู้เมืองดนตรีสุพรรณบุรี และงานศิลปะ Street Art และการแสดง Music Craft & Folk Arts เป็นต้น

ในส่วน กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ได้จัดกิจกรรม การแสดงนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประกอบด้วย มรดกภูมิปัญญาฯ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของมนุษยชาติกับองค์การยูเนสโก คือ โขน โนรา นวดไทย และมรดกภูมิปัญญาฯ ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ได้รับการขึ้นทะเบียนลำดับถัดไป ได้แก่ สงกรานต์ และ ต้มยำกุ้ง กิจกรรมสาธิตหัตถกรรมมรดกภูมิปัญญา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากดินสอพอง ผ้าขาวม้า ผ้าทอไทครั่ง(ลาวเวียง) และหัตถกรรม วาดหัวโขนจิ๋ว เป็นต้น และโซนนิทรรศการ 4 ศิลปินแห่งชาติของจังหวัดสุพรรณบุรี ประกอบด้วย ไวพจน์ เพชรสุพรรณ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) พุทธศักราช 2540 แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน – อีแซว) พุทธศักราช 2539 และ ยืนยง โอภากุล (แอ๊ด คาราบาว) ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) พุทธศักราช 2556

รวมถึงได้นำการแสดงดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน มาสร้างความบันเทิงในงานมหกรรมวัฒนธรรม ได้แก่ การแสดงจากสมาคมเพลงพื้นบ้านคณะแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ คณะอาจารย์วรรณา คณะแม่บัวผัน การแสดงลิเกจากสมาคมลิเกประเทศไทย และการแสดงดนตรีและเพลงสากล โดยคณะนักร้องประสานเสียงเยาวชนไทย (TYC) วงดุริยางค์เยาวชนไทย ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (TYO) และ วงดุริยางค์เครื่องลมเยาวชนไทย (TYW) มาสร้างสีสันความบันเทิงอย่างเต็มอิ่ม ในระหว่างวันที่ 9 – 10 มิถุนายน 2566 วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี

นอกจากนี้ ยังมีตลาดวัฒนธรรมอาหารคาวและหวานในภูมิภาคร่วมออกร้านกว่า 40 ร้าน ให้อิ่มอร่อยกันตลอดงาน และยังได้ช้อปกับผลิตภัณฑ์ และบริการทางวัฒนธรรม CCPOT จาก 25 จังหวัด ตลาดต้นไม้ ตลาดพระเครื่อง และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านดนตรีและผลิตภัณฑ์ของดีบ้านฉันสุพรรณบุรี มีกิจกรรมการเสวนาทางวิชาการ เรื่องวรรณกรรมและประวัติศาสตร์สุพรรณบุรี และกิจกรรมตักบาตรทางน้ำ “นาวาภิกขาจาร” วันที่ 10 – 11 มิถุนายน 2566 เวลา 06.30 น. ณ ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยสุพรรณบุรี วัดป่าเลไลยก์วรวิหาร

ทั้งนี้ การจัดงานมหกรรมวัฒนธรรมแห่งชาติ วิถีถิ่น วิถีไทย ครั้งต่อไปมีกำหนดจัดที่ภาคใต้ ภายใต้ชื่องาน “สานศิลป์ แดนดินใต้ เทิดไท้ องค์ราชัน” ในวันที่ 26 – 30 กรกฎาคม 2566 ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดสุราษฎร์ธานี อีกด้วย

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230610111540768