Search
Close this search box.

ถอดบทเรียนการปลดล็อค ศรีสะเกษ จากจังหวัดยากจนสู่ เมืองเกษตรอินทรีย์ ด้วย โมเดลเศรษฐกิจ BCG

share to:

Facebook
Twitter

เมื่อเอ่ยถึง จังหวัดศรีสะเกษ ภาพจำที่ใครหลายคนคิดถึง คือจังหวัดที่ประชาชนส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกร แต่ก็ต้องประสบกับภัยแล้งที่เกิดขึ้นในแต่ละปี ทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ยังคงมีฐานะยากจน ไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ จนกระทั่ง จังหวัดศรีสะเกษ ได้จับมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ขับเคลื่อนโครงการการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่นำร่องทุ่งกุลาร้องไห้ เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่จากฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนและเชื่อมโยงการท่องเที่ยว มาตั้งแต่ปี 2564

และในวันนี้เอง พวกเราต่างได้เห็นดอกผลงอกงามจากเมล็ดพันธุ์แห่งการพัฒนาที่หว่านไป ในรูปแบบของคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวศรีสะเกษที่ดีขึ้น เปลี่ยน ศรีสะเกษ จากจังหวัดยากจนติดอันดับต้นๆของประเทศ สู่ เมืองเกษตรอินทรีย์ ที่สร้างรายได้เพิ่มให้เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม

เพื่อให้เห็นภาพแห่งความสำเร็จนี้ร่วมกัน สวทช. ได้เชิญทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมถอดบทเรียนความสำเร็จของกลไก “การตลาดนำการผลิต” ที่เกิดขึ้นในชุมชนต้นแบบ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชน ตำบลผักไหม อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งจะนำไปต่อยอดสู่การสร้างุมชนเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่อื่นต่อไป


วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โดย วิราภรณ์ มงคลไชยสิทธิ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ให้ข้อมูลกลไก “ตลาดนำการผลิต” ที่ได้นำมาปรับใช้กับ จังหวัดศรีสะเกษ ว่า

“จากปัญหาการขาดแคลนเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี และปัญหาเรื่องตลาดรับซื้อผลผลิต ทำให้เรานำกลไก ตลาดนำการผลิต มาปรับใช้ กับการสนับสนุนให้เกษตรกรปลูก ถั่วเขียว KUML เป็นพืชหลังนาเพื่อปรับปรุงดิน ซึ่งช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้จริง ด้วยการนำนวัตกรรมมาแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชน อาทิ การจัดการภัยแล้ง และนวัตกรรมแก้จน เป็นต้น รวมถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ การขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภูมิภาค และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ให้เกิดขึ้นอย่างครบวงจร”


อนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ

จังหวัดศรีสะเกษ จับมือ สวทช. กับการปูพรมยกระดับรายได้เกษตรกรพื้นที่ทุ่งกุลาฯ ด้วย โมเดลเศรษฐกิจ BCG

การเสวนาเริ่มต้นด้วยการให้ข้อมูลของการทำเกษตรในพื้นที่ศรีสะเกษจากทางฝั่ง “พ่อเมืองศรีสะเกษ” ที่ในวันนี้ทาง อนุรัตน์ ธรรมประจำจิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ได้มาเป็นตัวแทนพ่อเมือง และให้ข้อมูลสำคัญว่า

“จังหวัดศรีสะเกษได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับ สวทช. ภายใต้โครงการการพัฒนาเศรษฐกิจด้วย BCG Model โดยกำหนดพื้นที่นำร่องไว้ที่ “ทุ่งกุลาร้องไห้” เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่จากฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนและเชื่อมโยงการท่องเที่ยว มาตั้งแต่ปี 2564 โดยมีโจทย์นำร่องในเรื่อง ข้าว พืชหลังนา และสิ่งทอ”

“นอกจากนี้ยังมีเรื่องสมุนไพร ผักอินทรีย์ โคเนื้อ ที่ สวทช. และหน่วยงานภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อว. ขับเคลื่อนในการนำองค์ความรู้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีเป้าหมายที่จะยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ และเกษตรกรในจังหวัด โดยใช้กลไกโมเดลเศรษฐกิจ BCG เข้ามาขับเคลื่อนร่วมกัน”

 

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.salika.co/2024/02/11/sisaket-model-organic-agriculture/