เอไอช่วยหมอค้นหาวิธีรักษาโรคหายยากได้อย่างไร ?

share to:

Facebook
Twitter

 

dna การแพทย์ gene

 

ในสารคดีชุดตอนที่ 4 จากทั้งหมด 6 ตอน เกี่ยวกับวิธีการที่ปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) กำลังปฏิวัติวงการแพทย์ด้วยการเปลี่ยนแปลงวิธีวิจัยด้านการบำบัดรักษาโรค ผู้สื่อข่าวบีบีซีได้พูดคุยกับดร.อเล็กซ์ ซาโวรอนคอฟ ผ่านทางวิดีโอคอล โดยในมือของเขาถือยาเม็ดเล็กสีเขียวรูปทรงสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัดเอาไว้ด้วย

บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพของดร.อเล็กซ์ เป็นผู้พัฒนายาตัวนี้ขึ้น โดยเขาบอกว่ามันสามารถรักษาโรคปอดหายากที่อาการลุกลามได้รวดเร็ว ชื่อว่าโรคพังผืดในปอดแบบไม่ทราบสาเหตุ (idiopathic pulmonary fibrosis – IPF) ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโดยตรง แต่ยาตัวใหม่นี้กลับมีประสิทธิศักย์ (efficacy) สูง ในการทดลองระดับคลินิกขนาดเล็ก สร้างความหวังให้วงการแพทย์ว่า ยารุ่นใหม่ที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นมาด้วยความช่วยเหลือของเอไออย่างเช่นยาชนิดนี้ จะสร้างความก้าวหน้าในการบำบัดรักษาโรคต่าง ๆ ได้อย่างมหาศาล

ดร.คริส เมเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญจากเครือบริษัทที่ปรึกษา Boston Consulting Group (BCG) ระบุว่าการใช้เอไอเข้ามาช่วยในการคิดค้นยาและวิธีรักษาโรค สามารถจะสร้างความแตกต่างอันใหญ่หลวงให้กับบรรดาผู้ป่วยได้ เพราะจากเดิมที่ต้องใช้เวลาคิดค้นและทดสอบยานานราว 10-15 ปี กว่าที่จะสามารถนำออกวางตลาด และต้องใช้เงินทุนกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สำหรับยาแต่ละตัว ซ้ำยังมีความเสี่ยงที่การทดสอบยาในระดับคลินิกจะล้มเหลวได้ถึง 90% ทว่าการใช้เอไอจะช่วยตัดลดเวลาและค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียไปลงได้อย่างมาก ทั้งยังเพิ่มโอกาสที่การวิจัยยาจะประสบความสำเร็จให้สูงขึ้นตามไปด้วย

ผลวิเคราะห์ล่าสุดที่บริษัทที่ปรึกษา BCG เพิ่งตีพิมพ์เผยแพร่ ชี้ว่ามีโมเลกุลยาที่เอไอค้นพบอย่างน้อย 75 ชนิด ที่ผ่านเข้าสู่การทดลองระดับคลินิกแล้ว “การที่ยาพวกนี้สามารถผ่านการทดสอบ จนเข้าสู่การทดลองระดับคลินิกได้มากมายเป็นประจำ ถือว่าเป็นนิมิตหมายแห่งความสำเร็จที่สำคัญยิ่ง” ดร.เมเยอร์กล่าว

 

 

ที่มาข้อมูล/อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.bbc.com/thai/articles/cqld32vz9k2o