Search
Close this search box.

นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุม Nikkei Forum ครั้งที่ 27 ระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤษภาคม 2565

share to:

Facebook
Twitter

พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักครับ

ช่วงวันที่ 26 – 27 พฤษภาคม 2565 นี้ ผมได้นำทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น เพื่อเข้าร่วมการประชุมนานาชาติที่มีการหารือและแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ และวิสัยทัศน์ เกี่ยวกับทิศทางและพัฒนาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาค (The Future of Asia) ระหว่างผู้นำรัฐบาล ผู้บริหารระดับสูง และนักวิชาการชั้นนำของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่จัดประจำทุกปี ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2538 โดยหนังสือพิมพ์ Nikkei สื่อรายใหญ่ที่มีอิทธิพลมากที่สุดในกลุ่มนักธุรกิจญี่ปุ่น

การประชุมครั้งนี้ มีหัวข้อหลัก คือ “การทบทวนบทบาทของเอเชียในโลกที่แบ่งฝ่าย” (Redefining Asia’s Role in a Divided World) ซึ่งผมได้รับเกียรติให้กล่าวปาฐกถา เพื่อแบ่งปันมุมมองของไทยต่อคำถามที่ว่า เราจะเดินไปสู่การเจริญเติบโตที่สมดุล ครอบคลุม และยั่งยืนในทุกมิติ ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร เพื่อสร้างอนาคตที่สดใสยิ่งกว่าเดิมของเอเชียและโลกของเรา ท่ามกลางความท้าทายนานัปการที่เรากำลังเผชิญอยู่ทุกวันนี้ ทั้งวิกฤตโควิด ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ความยากจนและความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าครองชีพสูง สภาวะเงินเฟ้อ ความผันผวน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และอื่นๆ อีกมากมาย โดยผมขอหยิบยกประเด็นสำคัญๆ ที่ได้นำเสนอ ดังนี้

1. การฟื้นฟูเศรษฐกิจยุคหลังโควิด เพื่อรองรับความท้าทายในอนาคต เอเชียจะต้องมีความยืดหยุ่น ปรับตัวได้เร็ว ฟื้นตัวได้ไว ตลอดจนรักษาความสมดุลในทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับสร้างสภาพแวดล้อมที่เสรี เป็นธรรม เปิดกว้าง คาดการณ์ได้ รวมทั้งการเตรียมพร้อมกำลังคนและโครงสร้างพื้นฐานสู่เศรษฐกิจดิจิทัล และเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ให้เข้มแข็ง ยืดหยุ่น และไม่ถูกตัดขาด

2. ไม่มีประเทศใดจะสามารถรับมือและจัดการกับความท้าทายเหล่านี้ได้เพียงลำพัง ดังนั้นการสร้างประชาคมระหว่างประเทศที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต การพัฒนาที่ยั่งยืน และสันติภาพ จึงสำคัญมากตามหลักคิด 3 ประการ คือ

(1) “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์” ไปสู่โอกาส ลดอุปสรรค กระชับความร่วมมือ
(2) “เชื่อมโยงกัน” ในทุกมิติ อย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ
(3) “สู่สมดุล” ในทุกทาง ส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุม

3. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ได้แก่

(1) ส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (BCG)
(2) ผลักดันเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการลดปริมาณคาร์บอน เช่น เปลี่ยนผ่านทางพลังงานไปสู่พลังงานสะอาด และเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)
(3) ต่อยอดเศรษฐกิจแห่งอนาคตใน 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ตลอดจนขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เศรษฐกิจสร้างสรรค์จากอัตลักษณ์ความเป็นไทยและมรดกทางวัฒนธรรม” (Soft Power) “5F” เป็นต้น

หัวใจสำคัญที่ผมต้องการสื่อสารในการประชุมครั้งนี้ ก็คือ การสร้างความตระหนักร่วมกันว่า ท่ามกลางวิกฤตโลกที่ซ้อนทับและส่งผลกระทบต่อทั่วโลกในขณะนี้ ไม่มีใครสามารถอยู่เพียงลำพังได้ “ความเข้มแข็งของเอเชีย คือ ความเป็นเอกภาพและการเติบโต ก้าวไปข้างหน้าด้วยกันทุกคน ทุกประเทศ” ซึ่งผมจะได้แจ้งผลสำเร็จของการประชุมครั้งนี้อีกครั้ง เมื่อกลับถึงประเทศไทยแล้วครับ

ที่มาข้อมูล : https://www.facebook.com/prayutofficial/posts/551008076396043