วันที่ 3 ธันวาคม 2566มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจราชการในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 หรือ ครม.สัญจร ณ พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และอุดรธานี) โดยมี พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา รมว.อว. นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง อว. รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ และบอร์ด กวทช. ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานคณะที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์และกิจการพิเศษ รอว. และบอร์ด กวทช. ดร.วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ(ไบโอเทค) ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และคณะผู้บริหารจากกระทรวง อว. ร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ รัฐมนตรี อว. ได้เยี่ยมชมผลงานของ สวทช. ในด้านการแก้ไขความยากจนลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based & Community) แบบครบห่วงโซ่ โดยใช้ BCG economy model เพื่อยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ภายใต้โครงการนำร่อง “การใช้ BCG Model ขับเคลื่อนชุมชนฐานการผลิตข้าวเหนียวให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจร โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่อิงกับวัฒนธรรมพื้นถิ่น: BCG NAGA belt road” โดยมี ดร. วรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการไบโอเทค สวทช. พร้อมด้วย ดร.อรรจนา ด้วงเเพง อาจารย์คณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ทีมนักวิจัยจากไบโอเทค สวทช. และกลุ่มเกษตรกรในโครงการร่วมนำเสนอผลงาน
BCG สาขาเกษตร ได้ผลักดันการดำเนินงานร่วมกันระหว่างไบโอเทค สวทช. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัท เกษตรอินโน จำกัด และหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินโครงการยกระดับรายได้และความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวด้วยเกษตรสมัยใหม่บนเส้นทางสายวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง BCG-NAGA Belt Road บีซีจี นาคาเบลต์โรด พัฒนาโมเดลการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่แบบ 4 P (ภาครัฐ เอกชน เกษตรกร และสถาบันการศึกษาในพื้นที่) ที่มีการบูรณากันในทุกภาคส่วนของจังหวัด ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวพึ่งพาตนเองได้ มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยกิจกรรมการผลิตนั้นเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงการแปรรูปอุตสาหกรรมระดับจังหวัดโดยใช้ข้าวเหนียว และ เศษเหลือจากการผลิตข้าวในไร่นา มาผนวกกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์และวัฒนธรรมพื้นถิ่น ให้เกิดสินค้าที่มีมูลค่า มีอัตลักษณ์ ผลักดันให้เกิด soft power ระดับจังหวัด รวมทั้งเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวบนฐานวัฒนธรรมข้าวเหนียว ใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงราย ลำปาง อุดรธานี และ นครพนม ผ่านการดำเนินงานภายใต้ 4 แผนงานหลัก คือ 1) มุ่งพัฒนาทักษะเกษตรกรและถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม 2) มุ่งยกระดับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวเหนียวและเพิ่มมูลค่าจากวัสดุเหลือทิ้ง 3) มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับข้าวเหนียว และ 4) มุ่งใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับการผลิตและรายได้
ทั้งนี้ จังหวัดอุดรธานี คือหนึ่งในจังหวัดนำร่อง ได้พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามแนวทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์จากทุนทางวัฒนธรรม ได้แก่ 1) วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเกษตรเชิงนิเวศอ่างน้ำพาน และ 2) วิสาหกิจชุมชนโฮม สเตย์เชิงอนุรักษ์บ้านเชียงแหว ที่ได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนและพัฒนาตลาดวัฒนธรรมข้าวเหนียวสู่การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://www.nstda.or.th/home/news_post/pr-nstda-bcg-naga-belt-road/