จากการสำรวจตลาดล่าสุด พบว่า Plant-Based Food ในตลาดโลกมีมูลค่าราว 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12% โดยตลาดได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพ ยอดขายของอาหารจากโปรตีนพืชจึงเติบโตค่อนข้างมาก
ขณะที่ กลุ่ม Flexitarian (กลุ่มคนที่กินทั้งมังสวิรัตและลดเนื้อสัตว์ลงในบางมื้อ) ในสหรัฐอเมริกามีถึงประมาณร้อยละ 29 กล่าวคือ ประชากรชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 3 ลดการบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม ทำให้ตลาด Plant-Based มีโอกาสที่จะเติบโตมากขึ้น Bloomberg ระบุว่าตลาด Plant-Based จะมีมูลค่าถึง 162,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2573 มีส่วนแบ่งในตลาดโปรตีนโลก 7.7 % ที่เป็นเช่นนี้เพราะเหตุผลสำคัญ คือ ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมากขึ้น การทำปศุสัตว์เป็นอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกทำให้ผู้คนหันไปทาน Plant-Based การเติบโตของกลุ่ม Flexitarian และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหาร
และในบริบทของประเทศไทยเอง ก็เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่ใช้ในการทำอาหารจากโปรตีนพืชหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ผัก ผลไม้ พืชตระกูลถั่ว ธัญพืช ไข่ผำ เห็ด และสาหร่าย ซึ่งอาหารที่กล่าวมานี้เป็นกลุ่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทั้งวิตามินธรรมชาติ แร่ธาตุสําคัญ แคลเซียม โพแทสเซียม ไฟเบอร์
ด้วยแนวโน้มการเติบโต กอปรกับข้อได้เปรียบของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตวัตถุดิบสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมอาหารจากโปรตีนพืช ตลอดจนความก้าวหน้าในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี Plant-Based ของนักวิจัยและภาคเอกชนก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แผนงานอาหารมูลค่าสูง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) จึงได้จัดงานเสวนา Expert Forum : “Plant-Based Protein ยกระดับงานวิจัยและนวัตกรรมผลิตภัณฑ์โปรตีนพืชสู่ อุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพ” ขึ้น
โดยภายในงานมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในการผลิต Plant-Based Protein ในแต่ละด้าน ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน มาแชร์และอัปเดตความรู้ให้กับผู้ร่วมรับฟังการเสวนา เพื่อนำไปต่อยอดในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอาหารจากโปรตีนพืชต่อไป
ในพิธีเปิดงาน ศ.ดร.ณัฐดนัย หาญการสุจริต ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้อำนวยการแผนงานอาหารมูลค่าสูง บพข. ได้กล่าวเปิดงานว่า
“Plant-Based Protein เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารที่มีโอกาสและศักยภาพสูงมาก และมีงานวิจัยรองรับในการพัฒนาอาหารกลุ่มนี้ออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและในระดับโลก บพข. จึงเล็งเห็นถึงโอกาสในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้กลุ่มอาหาร Plant based Protein สามารถผลิตออกไปในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งเวที Expert Forum แผนงานอาหารมูลค่าสูง บพข. ได้มีการจัดงานเสวนาเพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการสินค้าอาหารนวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง อย่างในเดือนมกราคมกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการจัดเวทีเสวนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางการจัดทำ Positive list เพื่อการขึ้นทะเบียนรายการสารสำคัญในส่วนประกอบอาหารและอาหาร เพื่อแสดง “ข้อความกล่าวอ้างทางสุขภาพ” (Health claims) สำหรับการผลักดันและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมอาหารมูลค่าสูง และยังมีการจัดงานเสวนาให้ความรู้เรื่อง Probiotic ด้วย”
“และ แผนงานอาหารมูลค่าสูง บพข. ยังมีบทบาทในการให้ทุนสนับสนุนโครงการวิจัยทั้งกับนักวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในการ Scale-up งานวิจัย ขยายฐานการผลิต นำไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ โดยแน่นอนว่า Plant-based Protein ก็อยู่ในอาหารแห่งอนาคตที่ทาง แผนงานอาหารมูลค่าสูงให้ความสำคัญด้วย”
ที่มาภาพ/ข้อมูล สามารถอ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.salika.co/2025/03/31/plant-based-food-expert-forum-pmuc/