วันที่ 30 เมษายน 2568 นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมงานสัมมนา “ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ : Mission Thailand” จัดโดย สถานีข่าว TNN ช่อง 16 โดยมี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ มีผู้นำภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งคณะรัฐมนตรีให้เกียรติเข้าร่วมงาน อาทิ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในส่วนผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายศุภกิจ บุญศิริ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และนายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมี นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ นายองอาจ ประภากมล กรรมการผู้จัดการและผู้อำนวยการสถานี TNN ให้การต้อนรับ ณ โรงแรมวอลดอร์ฟ แอสโทเรีย
ทั้งนี้ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เข้าร่วมเสวนาพร้อมพูดคุยและตอบคำถามจากตัวแทนภาคเอกชน ในหัวข้อ “ทางรอดอุตสาหกรรมไทย ในสมรภูมิรบการค้าโลก” ซึ่งได้เปิดเผยว่า “ธุรกิจศูนย์เหรียญ” คือโรคร้ายในภาคการผลิตไทย พร้อมประกาศเร่งล้างบางและออกกฎหมายควบคุมใหม่ เช่น ร่าง พ.ร.บ.จัดการกากอุตสาหกรรม เพื่อจัดการโรงงานที่ละเลยสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ รัฐบาลยังวางกลยุทธ์ผลักดัน 3 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) และอุตสาหกรรมชีวภาพ-หมุนเวียน (BCG) โดยมุ่งเชื่อมโยงห่วงโซ่คุณค่าระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับภาคเกษตรกรรมของไทย เพื่อให้เงินหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนพัฒนา “นิคมสีเขียว” ที่สามารถช่วยลดต้นทุนและบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี และมีโครงสร้างพื้นฐานในการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบการรายย่อยให้เข้าถึงการผลิตในระดับอุตสาหกรรมได้ง่ายขึ้น
สำหรับแนวทางการจัดการกับปัญหาอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ รัฐมนตรีฯ เอกนัฎ กล่าวว่า เหตุการณ์ตึกถล่ม ถือเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงปัญหาอุตสาหกรรมไทยอย่างชัดเจน และมองว่าอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญถือเป็นปัญหาที่กำลังกัดกินทำให้เศรษฐกิจไทยไม่เติบโต เพราะไม่ได้ช่วยจ้างงานคนไทย หรือตั้งโรงงานประกอบการผลิตจริงมากเท่าที่ควร ที่จะเกิดประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น การปราบปรามถือเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล โดยมองว่าจุดอ่อนของอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญมี 2 เรื่อง คือ 1) ไม่มีคุณภาพจึงราคาถูก เช่น ล้อยาง สายไฟ อุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ เมื่อประชาชนนำไปใช้งาน จึงไม่ปลอดภัยและเสี่ยงอันตราย การจัดการเรื่องนี้ ทางกระทรวงได้ใช้แนวทางปูพรมปราบปรามอย่างเข้มงวดในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา และ 2) ทำธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และสร้างมลพิษ สำหรับการจัดการเรื่องนี้ กระทรวงฯ จะบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยมองว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศไทยไม่ได้มีการปรับปรุงมานาน จึงจำเป็นต้องมีการปฎิรูปทางโครงสร้าง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคอุตสาหกรรม เพื่อรักษาอุตสาหกรรมและเอสเอ็มอีไทยให้อยู่รอด และไม่ให้ไทยกลายเป็นฐานของอุตสาหกรรมศูนย์เหรียญ
นอกจากนี้ อนาคตอุตสาหกรรมของประเทศไทยในยุคสงครามการค้า รัฐมนตรีฯ เอกนัฏ กล่าวว่า ผลกระทบจากมาตรการภาษีนำเข้าแบบโต้ตอบ ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ในระยะสั้นจะทำให้สินค้าจากจีนทะลักเข้ามายังประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม จะแก้ปัญหาด้วยการเร่งตรวจสอบและกำกับดูแลทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อให้สินค้าราคาถูกที่นำเข้าเข้ามากับสินค้าในประเทศที่ขายอยู่ในประเทศต้องแข่งขันในกติกาเดียวกัน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น ในขณะที่ระยะกลาง ประเทศไทยต้องปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมให้ทันสมัยและลดการปล่อยมลภาวะ ยกตัวอย่างเป็นอุตสาหกรรมเหล็กอีกเช่นกันว่า ระบบการผลิตเหล็กแบบดั้งเดิม (IF : Induction Furnace) นั้น เมื่อเดินเครื่องผลิตจะก่อมลพิษสูง ควบคุมได้ยาก หลายประเทศจึงไม่อนุญาตให้มีการผลิตอีก เช่น จีน มาเลเซีย ฯลฯ แต่ผลที่ตามมานั้นทำให้โรงงานในต่างประเทศย้ายฐานมาในอาเซียน รวมถึงประเทศไทย ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการยุติการผลิตเหล็กด้วยเทคโนโลยีหลอมแบบ IF และหันไปใช้เทคนิคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่า ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการผลิตเหล็กจากเตาอาร์คไฟฟ้า EAF (EAF : Electric Arc Furnace) ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาเชื่อว่า จะทำให้อุตสาหกรรมในประเทศไทย มุ่งสู่สินค้าที่ตลาดต้องการและเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ทําให้คนไทยเก่งขึ้น และทําให้ธุรกิจไทยมีรายได้มากขึ้น เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
ที่มาภาพ/ข้อมูล อ่านบทความทั้งหมดได้ที่ : https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/95990