Search
Close this search box.

เพิ่มโอกาสธุรกิจด้วยพลังงานสะอาด

share to:

Facebook
Twitter

ปัจจุบันทั่วโลกเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ซึ่งการเผาไหม้พลังงานที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO₂) จำนวนมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน โดย International Energy Agency ระบุว่า ในปี 2564 การเผาไหม้พลังงานปล่อย CO₂ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.3 หรือ 423 ล้านตัน

ทุกภาคส่วนทั่วโลกจึงร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยร่วมกันกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 (พ.ศ. 2593) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 (พ.ศ. 2608)

นอกจากนี้ ประเทศหรือกลุ่มประเทศที่สำคัญเริ่มบังคับใช้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ สหภาพยุโรปออกมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Cross Border Adjustment Mechanism: CBAM) ที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับสินค้านำเข้าบางประเภท ในขณะที่หลายประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ กาตาร์ จีน และญี่ปุ่น มีกลไกตลาดคาร์บอน ที่เป็นตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ระหว่างผู้ที่ปล่อยคาร์บอนและผู้ที่ดูดซับคาร์บอน ซึ่งเป็นเครื่องมือจูงใจให้ปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต ไปสู่การดำเนินธุรกิจคาร์บอนต่ำ

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์
พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์

พูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงอนาคตหลายประเทศมีแนวโน้มที่จะออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบมีต้นทุนการบริหารจัดการและการค้าเพิ่มขึ้น และส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เศรษฐกิจ รวมถึงการลงทุน ดังนั้น ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องเตรียมการรองรับมาตรการทางการค้าแนวใหม่ โดยแนวทางหนึ่งคือการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy) เพิ่มขึ้น เนื่องจากพลังงานสะอาด คือ พลังงานที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ปล่อยมลพิษตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การแปรรูป การใช้พลังงาน และการจัดการของเสียจากการผลิตหรือการใช้พลังงาน ตัวอย่างพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานชีวมวล และพลังงานความร้อน

พลังงานสะอาดยังช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตพลังงานสะอาด และลดต้นทุนให้กับผู้ผลิตอื่นที่ใช้พลังงานสะอาด โดยภาคเอกชนที่ผลิตพลังงานสะอาดสามารถขอรับใบรับรองการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificates : RECs) และได้รายได้จากการขาย RECs ดังกล่าว ให้กับผู้ผลิตอื่นที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด สำหรับผู้ผลิตที่ใช้พลังงานสะอาดสามารถใช้ RECs เพื่อแสดงกิจกรรมการลดการปล่อยคาร์บอนทางอ้อมได้ จึงช่วยลดจำนวนและต้นทุนการซื้อคาร์บอนเครดิต นอกจากนี้ การผลิตพลังงานสะอาดยังเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติมาลงทุนโดยตรงมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาดและคาร์บอนเครดิตเหล่านี้

นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการด้านสิ่งแวดล้อม การพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานสะอาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากรายงาน World Investment Report 2023 โดยการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development: UNCTAD) ระบุว่า ในปี 2565 การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) ทั่วโลกลดลงร้อยละ 12 แต่การลงทุนระหว่างประเทศในการผลิตพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงปี 2558 – 2565 จำนวนโครงการที่ลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 21 และในปี 2565 จำนวนโครงการที่จะลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 8 จากปี 2564 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นจากพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม จะเห็นได้ว่านักลงทุนสนใจการผลิตพลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น

สำหรับไทยให้ความสำคัญกับการเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานสะอาด โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand: BOI) ได้จัดทำยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุก 4 ปี (พ.ศ. 2567 – 2570) ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ โดยในอุตสาหกรรมกลุ่ม BCG ประกอบด้วย เกษตร อาหาร การแพทย์ รวมถึงพลังงานสะอาด ที่ผ่านมา การลงทุนเกี่ยวกับธุรกิจหมุนเวียนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ประเภทสาธารณูปโภค กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน อาทิ แสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ (ยกเว้น ขยะหรือเชื้อเพลิงจากขยะ) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยในปี 2563 – 2565 มีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน รวม 1,245 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 1.46 แสนล้านบาท โดยมูลค่าการลงทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 4.3

อย่างไรก็ดี กำลังการผลิตพลังงานสะอาดของไทยยังค่อนข้างต่ำ เมื่อเทียบกับความต้องการใช้ในประเทศ ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ในปี 2565 ความต้องการใช้พลังงานในแต่ละสาขามีสัดส่วนความต้องการใช้พลังงานของสาขาอุตสาหกรรมการผลิต คิดเป็นร้อยละ 39 ของความต้องการทั้งหมด ขนส่ง ร้อยละ 38 ภาคครัวเรือน ร้อยละ 12 ธุรกิจการค้า ร้อยละ 8 เกษตรกรรม ร้อยละ 3 ก่อสร้าง ร้อยละ 0.2 และเหมืองแร่ ร้อยละ 0.1 ในขณะที่ ในปี 2565 ไทยสามารถผลิตพลังงานสะอาดภายในประเทศได้ 19,645 ktoe และการใช้พลังงานสะอาดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 14.06 ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมด ซึ่งเพียงพอสำหรับการใช้ในครัวเรือนเท่านั้น การผลิตพลังงานสะอาดให้เพียงพอกับภาคอุตสาหกรรมและสาขาอื่นจึงเป็นสิ่งที่ไทยต้องเร่งดำเนินการเพื่อเป็นปัจจัยที่ช่วยเสริมให้ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในไทยมากยิ่งขึ้น

ผอ.สนค. เสนอว่า ทุกภาคส่วนควรร่วมกันสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานสะอาด เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs ครัวเรือน และองค์กรภาครัฐและภาคเอกชน ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) หรือพลังงานสะอาดอื่นๆ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ลดต้นทุนค่าพลังงาน และเพิ่มรายได้จากการขายพลังงานคืนให้กับหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ ภาครัฐควรพัฒนาระบบนิเวศของตลาดคาร์บอน (Carbon Market) อาทิ ลดข้อจำกัด พัฒนาตลาดให้สอดคล้องกับตลาดสากล เผยแพร่ให้ผู้ประกอบการใช้ประโยชน์จากตลาดคาร์บอน รวมถึงผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาดทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้ประโยชน์จากพลังงานสะอาดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

 

ข้อมูล : สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)
ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.salika.co/2024/02/09/increase-business-opportunities-with-clean-energy/