Search
Close this search box.

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ผลักดันเครือข่าย ทสม. เข้ามามีบทบาทการจัดการขยะที่ต้นทางในชุมชน และนำขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

share to:

Facebook
Twitter

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ผลักดันเครือข่าย ทสม. เข้ามามีบทบาทการจัดการขยะที่ต้นทางในชุมชน และนำขยะไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นางภาวินี ณ สายบุรี รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมบทบาทเครือข่าย ทสม. ในการจัดการขยะที่ต้นทาง โดยมีเครือข่าย ทสม. กรุงเทพมหานคร 43 เขต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อให้เครือข่าย ทสม. กรุงเทพมหานครมีองค์ความรู้ มีทักษะ เป็นเครื่องมือใช้ในระดับพื้นที่เชื่อมโยงกับชุมชน เป็นผู้นำด้านการจัดการปัญหาขยะที่ต้นทางในชุมชน สามารถนำความรู้ไปปรับใช้ในพื้นที่ และถ่ายทอดให้กับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การจัดการขยะที่ต้นทางและเสริมสร้างความรู้ ริเริ่มแนวคิดการจัดการขยะที่ต้นทาง นวัตกรรมการจัดการขยะอินทรีย์โดยใช้หนอนแมลงวันลาย และการทำจุลินทรีย์ ทำน้ำหมักจากเศษขยะเหลือใช้ Workshop จัดทำแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเครือข่าย ทสม. ในการจัดการขยะที่ต้นทางแบบบูรณาการมุ่งสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ (BCG Model) เนื่องจากเครือข่าย ทสม. เป็นกำลังหลักในระดับพื้นที่เปรียบเสมือนฟันเฟืองสำคัญที่มีส่วนร่วมขับเคลื่อนนโยบายด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่จะนำองค์ความรู้กลับไปใช้ประโยชน์ขับเคลื่อนงานด้านการจัดการขยะที่ต้นทางในพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม เกิดการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญสร้างเศรษฐกิจ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คน สังคม และสิ่งแวดล้อม

รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กล่าวย้ำว่า สส. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพ ทสม. เป็นผู้นำสู่การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการจัดการขยะที่ต้นทางแบบครบวงจร ด้วยการส่งเสริมการคัดแยกขยะตามหลักการ 3Rs ได้แก่ Reduce การลดปริมาณขยะให้น้อยลง Reuse การใช้ซ้ำ ใช้แล้วใช้อีก และ Recycle การนำไปแปรรูปเพื่อกลับมาใช้ใหม่ รวมถึง การสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์ การสนับสนุนการนำนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Eco – design) สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “BCG Model” ที่บูรณาการการพัฒนาเศรษฐกิจในสามมิติไปพร้อมกัน คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่คำนึงการนำวัสดุต่างๆกลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งทั้ง 2 เศรษฐกิจนี้อยู่ภายใต้เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ที่มุ่งแก้ปัญหามลพิษลดผลกระทบต่อโลกอย่างยั่งยืน

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230301131700135