Search
Close this search box.

บพข. จับมือ สมอ. & V-Green KU สร้าง Circular Economy Management System ยกระดับมาตรฐานเศรษฐกิจหมุนเวียนให้ภาคอุตสาหกรรมไทยทั้งระบบ (ตอนที่ 1)

share to:

Facebook
Twitter

เมื่อกล่าวถึง Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน เชื่อว่าทุกคนรับรู้ตรงกันแล้วว่า แนวคิดนี้ได้รับการนำเสนอเพื่อนำมาปรับใช้ในการแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว เป็นทางเลือกใหม่ในการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนในอนาคต ด้วยการสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตใช้วัตถุดิบหรือทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าที่สุด ด้วยการวางแผนให้สิ่งที่ผลิตขึ้นมานั้นสามารถคืนสู่สภาพเดิมหรือพร้อมนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ด้วยแนวคิดที่ประจักษ์แจ้งแล้วว่าดีต่อโลก ดีต่อทุกคน รวมถึงตอบโจทย์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนี้เอง ทำให้ Circular Economy ได้รับการตอบรับจากทั้งประชาชนและภาคอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ที่ยินดีจะปรับให้กระบวนการผลิตของตนให้สอดรับกับแนวทางนี้ และเพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงมีความตั้งใจที่จะสร้างกลไกเพื่อสร้างระบบการรับรองผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน ให้ได้คุณภาพและมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ
ด้วยเหตุนี้ ทาง หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยในโครงการ “การพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรเพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน” โดยมี รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการวีกรีน เป็นหัวหน้าโครงการฯ เพื่อพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองสำหรับระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรของประเทศไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและสากล

พร้อมกันนี้ เพื่อยกระดับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การประยุกต์ใช้จริงตามมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ ภายใต้โครงการวิจัยฯนี้ยังได้พัฒนาผู้ตรวจประเมินให้มีองค์ความรู้และทักษะในการตรวจประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนดของระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร

ขณะเดียวกัน ได้มีการจัดทำคู่มือการใช้งานสำหรับผู้ประกอบการ โดยทาง สมอ. ได้เป็นผู้ออกมาตรฐานที่ชื่อว่า มตช. 2 เล่ม 2 ว่าด้วยข้อมูลซึ่งเป็นแนวทางที่ชัดเจนสำหรับภาคเอกชนที่จะนำไปปฏิบัติ ซึ่งโครงการนี้ได้มุ่งเป้าที่การยกระดับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน นำไปสู่การประยุกต์ใช้และตอบสนองต่อความต้องของภาคเอกชน ในการขอรับการรับรองว่าภาคเอกชนได้นำเอาเศรษฐกิจหมุนเวียนไปประยุกต์ใช้จริง

มาในวันนี้ ทาง วีกรีน ได้จัดงานแถลงความสำเร็จของโครงการวิจัย “การพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองของระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนขององค์กร เพื่อผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งภายในงาน ได้มีการบรรยายและถอดบทเรียนความสำเร็จของโครงการฯ จากทั้งตัวแทนจากวีกรีน สมอ. และผู้บริหารที่เป็นตัวแทนจากบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรเป็นกลุ่มแรกของประเทศไทย ซึ่งแนวคิดและมุมมองต่างๆ สามารถนำไปต่อยอดไปสู่การขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวสู่ประเทศผู้นำในด้าน Circular Economy แห่งภูมิภาคได้อย่างน่าสนใจ

รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ คณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข.
รับรู้ที่มาของโครงการวิจัยฯ ที่สามารถขับเคลื่อนอีโคซิสเตมของ Circular Economy ดันไทยให้เป็นผู้นำเศรษฐกิจหมุนเวียนเบอร์ต้นๆ ของภูมิภาค

รศ.ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ คณะอนุกรรมการ แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน บพข. ได้กล่าวชี้แจงที่มาของโครงการวิจัยฯนี้ว่า
“ความสำเร็จของการดำเนินโครงการวิจัย บพข. “CIRCULAR ECONOMY: From Policy to Practice for Business Organizations” แสดงให้เห็นว่างานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน มีความสำคัญในระดับที่เป็นวาระแห่งชาติ และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG”

“โดยเฉพาะในช่วงแผน 13 ปี 2566 ซึ่งที่ผ่านมา บพข. มีพันธกิจในการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วยงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม สำหรับงานด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่เป็นวาระแห่งชาติ”
“โดย บพข. มีเป้าหมายที่จะปิดช่องว่างและเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องหลักในห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่เจ้าของแบรนด์ผลิตภัณฑ์ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และผู้รีไซเคิล เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย จึงได้ให้ทุนวิจัยเพื่อสนับสนุนการจัดทำฉลากผลิตภัณฑ์หมุนเวียน หรือ Circular Mark ซึ่งทาง V-green (วีกรีน) คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ร่วมมือกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หรือ สมอ. สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานพันธมิตร พัฒนาหลักเกณฑ์การได้รับ Circular Mark นี้ขึ้น ซึ่งโครงการนี้ประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง ได้ผลิตภัณฑ์นำร่อง ที่ได้รับตรา Circular Mark ทั้งหมด 390 ผลิตภัณฑ์ จาก 30 บริษัทนำร่อง โดยเราเป็นประเทศแรกๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่มีการรับรองผลิตภัณฑ์ในรูปแบบนี้”

“และภายใต้โครงการวิจัยนี้เรายังได้คู่มือการรับรองระบบ ซึ่งตอนนี้ทาง สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กำลังดำเนินการตรงนี้ด้วย ดังนั้นบริษัทที่สนใจก็สามารถขอตรารับรอง Circular Mark จากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ที่เป็นสถาบันร่วมในโครงการวิจัยนี้ ในปี 2564 ได้”
“มาในปี 2565 เรามองว่าควรมีการต่อยอดจากตรารับรองผลิตภัณฑ์ เพื่อขับเคลื่อนระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนระดับองค์กร ภายใต้โครงการวิจัยที่ บพข. มอบทุนสนับสนุนในชื่อโครงการ “การพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองของระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนขององค์กร เพื่อผลักดันเศรษฐกิจหมุนเวียน” ซึ่งเป็นงานที่ วีกรีน ร่วมกับ สมอ. เพื่อขยายผลจากมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติจำนวน 2 ฉบับ”

“โดยการสนับสนุนทุนวิจัยเป็นไปในรูปแบบ in-kind ซึ่งการดำเนินโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการดำเนินธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การประยุกต์ใช้จริงตามข้อกำหนดของมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ ซึ่งเป็นการพัฒนาผู้มีความสามารถในการเป็นที่ปรึกษา ให้มีองค์ความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางเชิงปฏิบัติและการแสดงความสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร”

“พร้อมกันนี้ ยังเป็นการพัฒนาผู้ตรวจประเมิน ให้มีองค์ความรู้และทักษะในการตรวจประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร และพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรอง สำหรับระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรของประเทศไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและสากลจัดทำคู่มือการใช้งาน และ คู่มือการตรวจประเมิน ตามข้อกำหนดของมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติอีกด้วย”

 

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.salika.co/2024/03/13/circular-economy-management-for-thailand-part-1/