Search
Close this search box.

ผลการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 28 ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเดินหน้าขับเคลื่อน MSME และสตาร์ทอัพ

share to:

Facebook
Twitter

ผลการประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมเอเปค ครั้งที่ 28 ทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจเดินหน้าขับเคลื่อน MSME และสตาร์ทอัพ ขณะที่ไทยพร้อมสานต่อการพัฒนา MSME เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ภายใต้การเติบโตที่ยั่งยืน

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี ประธานในการประชุมรัฐมนตรีเอเปควิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ครั้งที่ 28 เปิดเผยว่า การประชุมรัฐมนตรีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (APEC SME Ministerial Meeting) ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 กันยายน โดยมีผู้แทนระดับรัฐมนตรี จาก 21 เขตเศรษฐกิจเอเปค เข้าร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมได้ร่วมหารือแถลงการณ์ที่สะท้อนถึงการประชุมที่เกิดขึ้น ด้วยเป้าหมายเพื่อสร้างความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยครอบคลุมหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสตาร์ทอัพ และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) ภายในภูมิภาคเอเปค พร้อมทั้งแนวทางในการดำเนินการต่าง ๆ ร่วมกัน

ทั้งนี้ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพในการจัดการประชุมครั้งนี้ ได้สรุปการประชุมรัฐมนตรีภายใต้เขตเศรษฐกิจเอเปค ว่า ที่ประชุม ได้มีการหารือถึงการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจซึ่งเป็นประโยชน์ต่อทุกคน ใน4 ประเด็นสำคัญดังต่อไปนี้

(1) เร่งรัดการประยุกต์ใช้เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Economy Model) ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของธุรกิจขนาดเล็ก และยังสนับสนุนความพยายามของโลกที่จะรับมือกับภาวะโลกร้อน

(2) การเปลี่ยนแปลงสู่ดิจิทัลอย่างครอบคลุม การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถพัฒนาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย ที่มีทักษะในด้านดิจิทัลจะเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าและยืนหยัดต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เช่น ข้อจำกัดที่เกิดขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19

(3) การจัดหาเงินทุนและการปรับโครงสร้างหนี้ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อย มีความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ “เนื่องจากมีขนาดเล็ก มีผลิตภัณฑ์และบริการที่ไม่หลากหลาย และอาจมีโครงสร้างทางการเงินที่อ่อนแอกว่า” เพื่อช่วยให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งจะช่วยให้ใช้ศักยภาพที่มี รัฐมนตรีและตัวแทนระดับสูงในการประชุมสนับสนุนให้มีมาตรการซึ่งจะแก้ปัญหาที่เกิดจากข้อจำกัดของการปล่อยกู้

(4) การรับมือกับตลาดที่กำลังพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไป การสร้างสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจที่สนับสนุนสตาร์ทอัพ ส่งเสริมนวัตกรรม เสริมสร้างการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่มูลค่าโลก และสร้างความเข้มแข็งให้แก่สตรี ผู้ประกอบการที่เป็นเยาวชน และกลุ่มอื่น ๆ จะช่วยให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและรายย่อยเติบโตได้อย่างเข้มแข็งและมีความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น

ที่มาข้อมูล : https://www.facebook.com/photo/?fbid=453276863501323&set=a.301244428704568