Search
Close this search box.

ฟื้นฟู “ป่าชายเลน” สร้างเศรษฐกิจฐานราก ลดก๊าซเรือนกระจก

share to:

Facebook
Twitter

 

ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนมากเป็นอันดับ 5 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นระบบนิเวศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง ไม่เพียงสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในฐานะแหล่งอาหาร ยา พลังงาน และการสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนโดยรอบ แต่ยังเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่สำคัญเพื่อลดภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย นักวิชาการมีการประเมินตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจไว้ว่า หากมีการใช้ประโยชน์พื้นที่ป่าชายเลนทั้งหมดราว 1.73 ล้านไร่ทั้งทางตรงและทางอ้อม จะมีมูลค่าสูงถึงกว่า 6 หมื่นล้านบาทต่อปี

เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญและการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลนอย่างยั่งยืน ฝ่ายบริหารวิจัยเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) จัดการเสวนาเรื่อง ป่าชายเลนคุณค่าต่อประเทศไทยและโลก โดยมีผู้แทนจากส่วนงานต่างๆ มาร่วมสะท้อนทิศทางการดำเนินงานทั้งในแง่มุมการเพิ่มปริมาณพื้นที่ป่า การสร้างมูลค่าเพิ่ม การอนุรักษ์ การสร้างแหล่งเรียนรู้ และการสร้างเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนพัฒนาตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Economy Model)

 

 

ป่าชายเลนแหล่งอาหารและดูดซับก๊าซเรือนกระจก

ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาความหลากหลายทางชีวภาพ ได้กล่าวเปิดการเสวนาด้วยการชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของป่าชายเลนและสถานการณ์ภาพรวมว่า ป่าชายเลนเป็นระบบนิเวศที่เชื่อมต่อระหว่างผืนดินกับน้ำทะเลในเขตร้อนและกึ่งร้อนของโลก ประเทศไทยมีแนวป่าชายเลนเกิดขึ้นทั้ง 2 ฝั่งของประเทศ ฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่จันทบุรีไปถึงปัตตานีมีความยาวของพื้นที่ประมาณ 2,000 กิโลเมตร และฝั่งอันดามันจากจังหวัดระนองถึงจังหวัดสตูลมีความยาวมากกว่า 1,000 กิโลเมตร

 

ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาความหลากหลายทางชีวภาพ

 

“คุณค่าของป่าชายเลนไทย ไม่เพียงเป็นบ้านขนาดใหญ่สำหรับอนุบาลสัตว์น้ำชายฝั่งเท่านั้น แต่ยังเป็นโรงครัวที่อุดมสมบูรณ์ และเป็นกำแพงกันภัยธรรมชาติให้แก่คนชายฝั่ง โดยเฉพาะตอนเกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 อย่างไรก็ตามหากย้อนไปประมาณช่วง 30-60 ปีที่ผ่านมา น่าเสียดายว่าป่าชายเลนไทยเคยถูกรุกรานอย่างหนักเพื่อประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจจนพื้นที่ป่าหายไปกว่าครึ่ง แต่ด้วยประชาชนเริ่มมีความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของป่าชายเลนมากขึ้น จึงทำให้มีการฟื้นคืนป่าชายเลนเพิ่มขึ้นมาในช่วงระยะหลัง นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรอีกกว่า 90 ประเทศ ในการเชื่อมโยงพื้นที่ป่าชายเลนของแต่ละประเทศให้เป็นป่าชายเลนของโลกในนามสมาคมป่าชายเลนนานาชาติ (International Society for Mangrove Ecosystem หรือ ISME) ซึ่งจะมีบทบาทหน้าที่ในการร่วมฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน และการพบปะแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิชาการโดยผู้เชี่ยวชาญแต่ละแขนงอีกด้วย”

 

 

เมื่อประชาคมโลกเกิดการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของป่าชายเลน ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้มีการดำเนินงานพัฒนาป่าชายเลนตามเป้าหมายหลายด้าน ทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (CBD) อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และการดำเนินงานตามเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อหยุดหรือชะลอปัญหาภาวะโลกร้อนให้ได้มากที่สุด ซึ่งประเทศไทยมีเป้าหมายที่ต้องบรรลุ คือ การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 ภายในปี 2573

 

ป่าชายเลน ความหวังไทยลดการปล่อย CO2

จากปัญหาภาวะโลกร้อนและการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศอันเนื่องมาจากการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่บรรยากาศที่มากเกินไป ได้นำมาสู่ข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่หลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยต้องหาทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการปลูกป่าโดยเฉพาะป่าชายเลนถือเป็นความหวังสำคัญในการนำมาใช้แลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต หรือใช้ในการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเองจากการปลูกป่าในพื้นที่รัฐดูแล

 

นางพูลศรี วันธงไชย ผู้อำนวยการส่วนวิจัยทรัพยากรป่าชายเลน กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ทช.

 

นางพูลศรี วันธงไชย ผู้อำนวยการส่วนวิจัยทรัพยากรป่าชายเลน กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ทช. เล่าถึงแผนงานนโยบายด้านการอนุรักษ์ฟื้นฟูและระเบียบการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตของพืชป่าชายเลนว่า หนึ่งในแผนงานที่ ทช. กำลังดำเนินงานคือการทำให้เกิดการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนอย่างยั่งยืน โดยกรมได้ร่วมกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. และหน่วยงานพันธมิตร สร้างกลไกเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภารกิจนี้ คือการปลูกป่าชายเลนเพื่อคาร์บอนเครดิต เพราะมีข้อมูลการวิจัยจากต่างประเทศรายงานว่าป่าชายเลนสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าป่าชนิดอื่น 2-4 เท่า โดยจะกักเก็บคาร์บอนไว้ในมวลชีวภาพที่อยู่ในลำต้น ราก ซากไม้ตาย และที่สำคัญคือการกักเก็บอยู่ในดิน

 

 

“การดำเนินงานปลูกป่าชายเลนของภาคเอกชนเพื่อแลกเปลี่ยนเป็นคาร์บอนเครดิตจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ภายใต้ระเบียบ ทช. ว่าด้วยการปลูกและบำรุงป่าชายเลนสำหรับองค์กรหรือบุคคลภายนอก พ.ศ. 2564 ซึ่งดำเนินการร่วมกัน 3 ฝ่าย มีหน้าที่แตกต่างกันไป โดยองค์กรหรือบุคคลภายนอกจะเป็นผู้ปลูกและออกค่าใช้จ่ายต่างๆ ทช. จะเป็นผู้กำกับดูแล และอบก. มีหน้าที่ขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต ซึ่งการปลูกป่าจะต้องดูแลอย่างน้อย 6 ปี หลังครบ 6 ปี ผู้พัฒนาโครงการฯ ต้องมีการเสนอแผนนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนโดยรอบได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการฟื้นคืนหรือเพิ่มปริมาณผืนป่า และมีการส่งเสริมอาชีพให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในชุมชน

ส่วนการปลูกป่าเพื่อคาร์บอนเครดิต จะต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี โดยผู้พัฒนาโครงการฯ ได้คาร์บอนเครดิต 90% ทาง ทช. ได้ 10% และเป็นโครงการฯ ที่เกิดขึ้นหลังวันที่ 24 เมษายน 2564 ตามเงื่อนไขข้อตกลงกับทาง ทช. เท่านั้น ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาข้อมูลได้จากเว็บไซต์ของ ทช. ส่วนระเบียบและขั้นตอนขึ้นทะเบียนและการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตสามารถติดตามรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ของ อบก. ซึ่งจะมีกระบวนการคิดคาร์บอนเครดิตเป็นแบบภาคสมัครใจ และสามารถนำไปใช้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ การใช้หักลบจำนวนการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบขององค์กร หรือใช้จำหน่ายเป็นเครดิต เป็นต้น”

 

ป่าชายเลนหล่อเลี้ยงชุมชน เชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานราก

แม้คุณค่าของป่าชายเลนและเงื่อนไขในการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตจะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชน ภาคเอกชน และหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยกันฟื้นฟูเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มมากขึ้น แต่มิติสำคัญที่จะนำมาซึ่งการดูแลอนุรักษ์ป่าชายเลนไว้ได้อย่างยั่งยืน คือ การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากให้มีรายได้จากการใช้ประโยชน์ป่าชายเลน

 

นายไชยภูมิ สิทธิวัง ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ทช.

 

นายไชยภูมิ สิทธิวัง ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลน กองอนุรักษ์ทรัพยากรป่าชายเลน ทช. เล่าถึงการทำงานที่ผ่านมาว่า ทช. ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรและชุมชนโดยรอบป่าชายเลนในการดำเนินงานส่งเสริมการเติบโตเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนจากฐานทรัพยากรป่าชายเลนในท้องถิ่น ทั้งการศึกษารวบรวมองค์ความรู้ การเผยแพร่ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการพัฒนาต่อยอดเพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ซึ่งครอบคลุมการใช้ประโยชน์จากป่าชายเลน ทั้งทางด้านสัตว์น้ำเศรษฐกิจ พืชอาหาร พืชสมุนไพร ผลิตภัณฑ์ต่างๆ จากพืชป่าชายเลน รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในป่าชายเลน เช่น การนำพืชป่าชายเลนกว่า 20 ชนิด มาทำเป็นอาหารกว่า 70 เมนู การใช้ประโยชน์จากพืชสมุนไพรกว่า 30 ชนิด การทำประมงชายฝั่งแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ไม้ป่าชายเลนผลิตเป็นถ่านหุงต้มคุณภาพสูง และการผลิตไม้ป่าชายเลนเพื่อเป็นไม้ดอกไม้ประดับหรือไม้ให้ร่มเงาที่มีราคาสูง เป็นต้น ถือได้ว่าป่าชายเลนเป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้หล่อเลี้ยงคนในพื้นที่

 

 

อย่างไรก็ตามด้านองค์ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากพืชป่าชายเลนตอนนี้ยังขาดผู้เชี่ยวชาญจากแขนงต่างๆ มาร่วมบูรณาการนำเอาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยยกระดับการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ทรัพยากรที่ชุมชนมีเป็นต้นทุน รวมถึงการสร้างเครือข่ายการกระจายสินค้าและช่องทางการตลาดให้แก่ผลิตภัณฑ์จากป่าชายเลน เพื่อให้เศรษฐกิจฐานรากมีการเติบโตอย่างมั่นคง เป็นไปตามเป้าหมายการดำเนินงานของ ทช.

 

เทคโนโลยีจีโนมิกส์อนุรักษ์พันธุ์ไม้ป่าชายเลนเสี่ยงสูญพันธุ์

ปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางความพยายามฟื้นฟูป่าชายเลน ยังคงมีการบุกรุกเข้าใช้ประโยชน์ที่ดิน ส่งผลให้ป่าชายเลนที่เป็นป่าธรรมชาติลดลง พันธุ์ไม้ชายเลนหลายชนิด โดยเฉพาะชนิดที่กระจายพันธุ์ได้น้อย และพบเฉพาะถิ่นเริ่มหายากและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

 

ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง ผู้อำนวยการศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (NOC) สวทช.

 

ดร.สิทธิโชค ตั้งภัสสรเรือง ผู้อำนวยการศูนย์โอมิกส์แห่งชาติ (NOC) สวทช. เล่าถึงความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับ ทช. ในการดำเนินงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนไทยว่า ปัจจุบัน สวทช. โดย NOC ได้นำเทคโนโลยีจีโนมิกส์มาใช้ในการศึกษาถอดรหัสพันธุกรรมของพืชป่าชายเลนไทย เพื่อทำความเข้าใจถึงการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Natural selection) รวมถึงการปรับตัวในระดับพันธุกรรมของพืชแต่ละชนิดเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นยังได้มีการวิเคราะห์จีโนมพืชป่าชายเลนที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในปัจจุบัน ดังปรากฏใน IUCN Red List เช่น พังกาถั่วขาว (Bruguiera hainesii) ที่อยู่ในกลุ่มสิ่งมีชีวิตที่มีความเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์ (Critically Endangered หรือ CR) มีเหลืออยู่ในประเทศไทยไม่ถึง 100 ต้น

 

 

“นักอนุกรมวิธานได้วิเคราะห์ลักษณะต่างๆ ของพังกาถั่วขาวไว้ว่า มีลักษณะผสมกันระหว่างพังกาหัวสุมดอกแดง และถั่วขาว ผลการศึกษาทางพันธุศาสตร์พบว่าขนาดจีโนมของพังกาถั่วขาวใหญ่กว่าตัวพ่อแม่ และมีจำนวนยีนมากกว่าเกือบ 2 เท่า โดยพบหลักฐานว่าบางโครโมโซมในพังกาถั่วขาวนั้นมาจากถั่วขาว และบางโครโมโซมนั้นมาจากพังกาหัวสุมดอกแดง ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังศึกษาความหลากหลายทางธรรมชาติของพืชกลุ่มถั่วนี้ ทั้งนี้องค์ความรู้ที่ได้จากการวิจัยด้วยเทคโนโลยีจีโนมิกส์ จะมีการนำมาขยายผลด้านงานอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของป่าชายเลนไทยต่อไปในอนาคต”

 

สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนฯ ร.๙ แหล่งเรียนรู้สู่ความยั่งยืน

ประเด็นสุดท้ายที่มีการนำมาพูดคุยในการเสวนาครั้งนี้คือการจัดสรรพื้นที่สร้างความตระหนักรู้แก่ประชากรไทยและประชากรโลกถึงความสำคัญของป่าชายเลน ด้วยการสร้างแหล่งเรียนรู้ระดับสากล สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.๙ สวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนแห่งแรกของโลก

 

นายชาตรี มากนวล ผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.๙ ทช.

 

นายชาตรี มากนวล ผู้อำนวยการสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.๙ ทช. เล่าถึงความเป็นมาของสวนพฤกษศาสตร์ป่าชายเลนนานาชาติ ร.๙ จังหวัดจันทบุรีแห่งนี้ว่า มีการสร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยสวนแห่งนี้จะเป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่รวบรวมองค์ความรู้และพรรณไม้ป่าชายเลนจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกมาจัดแสดง เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และสถานที่พักผ่อนทางธรรมชาติให้แก่คนไทยและต่างชาติ โดยสวนพฤกษศาสตร์แห่งนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือ อาคารนิทรรศการให้ความรู้ โรงเรือนจัดแสดงพันธุ์ไม้ป่าชายเลนทั้งของไทยและต่างประเทศ และทางเดินศึกษาธรรมชาติที่มีทางเดินชมเรือนยอดไม้ป่าชายเลน หอชมวิว และเส้นทางปั่นจักรยาน ซึ่งคาดว่าอาคารนิทรรศการให้ความรู้จะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี พ.ศ. 2565 ก่อนจะทยอยเปิดส่วนอื่นๆ ต่อไป

 

 

ทั้งหมดนี้คือทิศทางการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ป่าชายเลนไทย เพื่อรักษาฐานทุนทางทรัพยากรให้คงความสมบูรณ์ และก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากตามโมเดลเศรษฐกิจบีซีจี (BCG Economy Model) ซึ่งเป็นวาระของชาติ ที่มุ่งพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการคุ้มครอง ป้องกัน ฟื้นฟู และใช้ประโยชน์ทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ ให้เกิดการสร้างรายได้ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน