ศูนย์ชีวินทรีย์ฯ ม.วลัยลักษณ์ จัดเวิร์กช็อป “การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานของมังคุด” เพื่อให้เกษตรกรสนใจการป้องกันและควบคุมโรคและแมลงศัตรูพืช ยกระดับคุณภาพมังคุดราชินีแห่งผลไม้ เกษตรกรพัทลุงสนใจเข้าร่วมกิจกรรม
รศ.ดร.วาริน อินทนา อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ม.วลัยลักษณ์ (มวล.) เปิดเผยว่า ตนพร้อมทีมคณะวิจัยฯ พร้อมด้วยทีมศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร เดินทางไปจัดอบรมเชิงปฏิบัติการ “การจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสานของมังคุด” ให้แก่เกษตรกรจังหวัดพัทลุง เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถป้องกันและควบคุมโรคและแมลงศัตรูมังคุดได้ ณ อาคารประชุมโรงเรียนวัดใสประดู่ อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง โดยได้รับเกียรติจากนายสมชาย พรุเพชรแก้ว หัวหน้ากลุ่มยุทธศาสตร์และสารสนเทศ สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง เป็นประธานเปิดการอบรมมีเกษตรกรชาวสวนมังคุดใน จ.พัทลุงเข้าร่วมประมาณ 80 คน
รศ.ดร.วาริน กล่าวว่า การอบรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย “การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG แบบบูรณาการเชิงพื้นที่ (Area based) : การจัดการทำแบบมาตรฐานจัดการศัตรูพืช (Standard Operating Procedure: SOP) โดยใช้ชีวภัณฑ์แบบผสมผสานในพืชเศรษฐกิจ มังคุด” โดยได้รวบรวมองค์ความรู้เป็น SOP คู่มือการจัดการศัตรูมังคุดด้วยชีวภัณฑ์แบบครบวงจร เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถป้องกันและควบคุมโรคและแมลงศัตรูมังคุด โดยเฉพาะโรคใบไหม้ โรคใบจุด โรคกิ่งแห้ง หนอนกินใบมังคุด และเพลี้ยไฟ ที่เป็นปัญหาร้ายแรงต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตมังคุด ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์อย่างมีประสิทธิภาพ ใช้ให้ถูกวิธี ถูกเวลาตามการระบาดของศัตรูพืช ช่วยลดปริมาณการใช้สารเคมี ลดปัญหาสารเคมีตกค้างในผลผลิตมังคุด และไม่สร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับมังคุดสู่มาตรฐานคุณภาพผลผลิตส่งออกที่สามารถสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของเกษตรกรไทยได้
“ปัจจุบันเกษตรกรไทยนิยมใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชเป็นหลัก เพราะให้ผลเร็วและสะดวกต่อการใช้งาน แต่การใช้สารเคมีปริมาณมากและต่อเนื่อง ในระยะยาวจะก่อให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา ที่สำคัญยังเป็นอันตรายต่อเกษตรกร ผู้บริโภคและสภาพแวดล้อมส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การนำชีวภัณฑ์มาใช้ กำจัดโรคและแมลงศัตรูพืชแบบผสมผสานเป็นการลดเหล่านี้ปัญหาได้ ซึ่งโครงการวิจัยนี้จึงมุ่งให้เกษตรกรใช้ชีวภัณฑ์ อย่างถูกต้อง เพื่อให้ได้ผลผลิตพืชที่มีปริมาณและคุณภาพดีขึ้น มีความปลอดภัยต่อเกษตรกร ผู้บริโภค และสภาพแวดล้อม ลดต้นทุนการผลิต ลดข้อกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ และที่สำคัญเป็นวิธีการดูแลปกป้องต้นพืชได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” รศ.ดร.วาริน กล่าว
ทั้งนี้เกษตรกรที่สนใจเกี่ยวกับชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์ผลิตและบริการชีวินทรีย์เกษตร โทรศัพท์ 092-3293569 LINE ID tcruwu
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG231208183945422