เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 68 นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงานเผยแพร่ยุทธศาสตร์และนโยบายส่งเสริมการลงทุน ในหัวข้อ “Ignite Thailand : Invest in Endless Opportunities โอกาสการลงทุนไร้ขีดจำกัดในประเทศไทย”ว่า สถานการณ์การลงทุนและเศรษฐกิจทั่วโลกในปัจจุบันมีความท้าทายเป็นอย่างมาก การลงทุนใหม่ ๆ เป็นเรื่องที่ท้าทาย ทุกคนที่อยู่ในวงการธุรกิจ ทั้งภาครัฐและเอกชนทราบดีว่า การหาช่องทางให้เกิดการลงทุนใหม่ ๆ ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนในอดีตที่ผ่านมา ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศไทยค่อย ๆ เติบโตขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอ รัฐบาลต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดมากกว่านี้ โดยพยายามดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศ
“ในฐานะผู้นำรัฐบาลต้องพยายามเปลี่ยนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ให้เป็นโอกาสของประเทศให้ได้ การที่จะทำเช่นนั้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน รัฐบาลมีความมุ่งมั่นอย่างชัดเจนในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั่วโลกให้รับรู้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าลงทุน เป็นประเทศแห่งโอกาส มีความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรและศักยภาพของบุคลากร สิ่งที่สำคัญคือ รัฐบาลต้องสร้างโอกาสในการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นักลงทุนทั่วโลกเห็นว่า การลงทุนในประเทศไทยมีความมั่นคงและให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า”
ปัจจุบันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลกำลังผลักดันโครงการหลายโครงการ เช่น รถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ เพื่อเพิ่มการเชื่อมต่อภาคใต้เข้าสู่ศูนย์กลางทางการค้าและบริการ การอนุมัติการลงทุนในรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีม่วงใต้เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯ ชั้นนอกกับชั้นใน และรถไฟความเร็วสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือระยะที่สอง เพื่อเชื่อมการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยในระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้เริ่มโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 มีมูลค่าการลงทุนเบื้องต้นกว่า 1.5 แสนล้านบาท และขยายการใช้บริการของท่าอากาศยานทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค เป็นโครงการที่สำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทย อีกหนึ่งโครงการที่สำคัญคือ โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) จะเชื่อมต่อทะเลอันดามันและอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้าของภูมิภาค โครงการนี้ได้รับความสนใจจากผู้นำของประเทศจีนและประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก หากโครงการนี้สำเร็จ จะสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมากมายให้กับประเทศไทย ทั้งในด้านการท่องเที่ยว การค้า และการสร้างงาน
รัฐบาลตั้งเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์และอากาศยานของภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการค้าและการลงทุนของประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยพยายามสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย
นอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่แล้ว ยังให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัลและธุรกิจแห่งอนาคต รัฐบาลออกนโยบายเพื่อดึงดูดการลงทุนในดาต้าเซ็นเตอร์ (Data Center) ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวที่จะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของบุคลากร โดยการให้ทุนการศึกษาแก่นักเรียน นักศึกษาในสาขาเทคโนโลยีดิจิทัล ตามนโยบาย ODOS (One District One Scholarship) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับคนไทยในสาขาที่ประเทศยังขาดแคลน เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านทักษะ ความสามารถประกอบอาชีพ และสร้างรายได้ที่ดี พร้อมดึงดูดบุคลากรจากทั่วโลกเข้ามาทำงานในประเทศไทย แลกเปลี่ยนองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไทย พร้อมทั้งวางแผนที่จะผลิตบุคลากรด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นมากกว่า 80,000 คน
รัฐบาลได้ดำเนินการปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนให้ง่ายและน่าสนใจยิ่งขึ้น โดยลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น
และสร้างระบบบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว สำหรับภาคการผลิตของประเทศไทยซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศ อาทิ ภาคเกษตร อาหาร บริการ ท่องเที่ยว และการแพทย์ ได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมเหล่านี้ โดยใช้การผสมผสานเทคโนโลยีและภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์และบริการของไทย เช่น ครัวไทยสู่ครัวโลก เน้นการสร้างความเชื่อมโยงตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ของไทยสามารถเข้าสู่ตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งส่วนที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย รัฐบาลได้ผลักดันการท่องเที่ยวอย่างเข้มข้น โดยมีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้กลับมาในระดับก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 และในบางจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก ตัวเลขนักท่องเที่ยวได้เกินกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว เป็นสัญญาณที่ดีว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทยกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสประสบการณ์ที่หลากหลายและน่าจดจำยิ่งขึ้น อาทิ เทศกาลมหาสงกรานต์ที่จะเกิดขึ้นในเดือนเมษายน เป็นกิจกรรมสำคัญที่รัฐบาลให้การสนับสนุน และจะมีการจัดกิจกรรมตลอดทั้งเดือน เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของไทยในทุกภูมิภาค โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะมีการเผยแพร่แผนที่แหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจทั่วประเทศ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มีทางเลือกที่หลากหลาย ไม่จำกัดเฉพาะเมืองท่องเที่ยวหลัก และเร่งขับเคลื่อนเมืองน่าเที่ยวอื่น ๆ ให้เป็นที่รู้จัก ประชาสัมพันธ์ให้รู้ว่าประเทศไทยเที่ยวได้ทั้งปี โดยล่าสุด ประเทศไทยได้สร้างสถิติใหม่ในการส่งเสริมการลงทุน มีมูลค่าการลงทุนมากกว่า 1.13 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ความสำเร็จนี้เป็นผลมาจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่ได้ทำงานอย่างหนักในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
รมว.คลัง ย้ำไทยพร้อมเป็นจุดหมายการลงทุนระดับโลก
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถา “ความพร้อมประเทศไทยเพื่อเป็นจุดหมายการลงทุนระดับโลก” กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไทยมีการลงทุนที่น้อย รัฐบาลเข้ามา 3-6 เดือนพยายามสร้างความรู้จักให้ตลาด เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา เอเชีย จนสู่เป้าหมายการเจรจาการลงทุนในแต่ละภาคส่วน เช่น เซมิคอนดักเตอร์ (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ชิป แผงวงจร) การท่องเที่ยว เกษตร ไบโอเทคโนโลยี ท่ามกลางวิกฤติของโลกแต่เป็นโอกาสที่ดีของไทย เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าประเทศไทยพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางแห่งการลงทุน และจะทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ที่ 3-3.5% ในปีนี้ หลังการลงทุนของโลกเปลี่ยนไปต้องการความรวดเร็ว ทำให้ภาครัฐและเอกชนต้องทำงานสนองตอบให้ทันท่วงที โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่สอดรับกับความต้องการของโลก อย่างอุตสาหกรรมโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือ โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ประเทศไทยมีความพร้อมในหลายปัจจัย เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมขับเคลื่อนเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมสีเขียว การพัฒนาด้านเทคโนโลยี การสร้างบุคลากรเพื่อรองรับ หรือการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพ
ปัจจัยที่ส่งเสริมให้ไทยมีความพร้อมในการขับเคลื่อนโอกาสการลงทุนในทุกมิติ
1. ไทยอยู่ในทำเลที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ ที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิก และมหาสมุทรอินเดีย ด้วยระบบโลจิสติกส์กับโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
2. ความเสี่ยงภัยทางธรรมชาติน้อย และเป็นพื้นที่ไร้ความขัดแย้งของภูมิภาค
3. โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยที่มีความพร้อม สามารถพัฒนาเป็นพื้นที่สีเขียวและมีศักยภาพสูงในการพัฒนาดิจิทัลรองรับ
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการคลังที่เข้มแข็ง มีสภาพคล่อง ระบบธนาคารที่มั่นคง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องพัฒนาและเร่งดำเนินการคือ การปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบและกฎหมาย ส่งเสริมศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ เร่งเดินหน้ามาตรการส่งออก (FTA) ตอบสนองการลงทุนเพื่อการส่งออกของไทย รวมถึงการขยายขอบเขตให้กับ BOI ในมาตรการส่งเสริมการลงทุน
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://www.prd.go.th/th/content/category/detail/id/39/iid/372484