Search
Close this search box.

จังหวัดปราจีนบุรี จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry : GI) มุ่ง “ขับเคลื่อนปราจีนบุรีอุตสาหกรรมสีเขียว 100 % “

share to:

Facebook
Twitter

จังหวัดปราจีนบุรี จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry : GI) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 มุ่ง “ขับเคลื่อนปราจีนบุรีอุตสาหกรรมสีเขียว 100 % ” และการพัฒนาที่ยั่งยืน สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG

วันที่ 1 มิถุนายน 2566 เวลา 09.30 น. นายรณรงค์ นครจินดา ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี มอบหมาย นางพัชรี ศาลาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ให้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมและพัฒนาสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry : GI) ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อให้โรงงานอุตสาหกรรมมีแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น โดยยึดหลักการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจด้วยวิธีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อประสิทธิภาพของการใช้เครื่องจักรหรืออุปกรณ์ พัฒนาศักยภาพของพนักงาน ป้องกันและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างสมดุลระหว่างความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ระบบนิเวศไปพร้อมกัน โดยการยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry: GI) ณ หอประชุมจังหวัดปราจีนบุรี ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี โดยนายพัดทอง กิตติวัฒน์ อุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี กล่าวรายงาน นายสมมาต ขุนเศษฐ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการประจำจังหวัดปราจีนบุรี และผู้แทนสถานประกอบการรวมกว่า 200 คน เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อให้ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม มีความรู้ความเข้าใจและมีส่วนร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว และอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ ลดระดับมลพิษทางอากาศจากคาร์บอนไดออกไซด์ ลดภาวะก๊าซเรือนกระจก สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG หรือโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นเศรษฐกิจทฤษฎีใหม่ที่ผสมผสานการพัฒนา 3 ด้านหลัก คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศในด้านสังคม เศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม อุตสาหกรรม สีเขียวเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวหรือเศรษฐกิจยั่งยืน (Sustainable Economic Development) ที่เน้นในด้านการผลิตและการบริโภคสินค้าและบริการ เพื่อที่จะเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับมนุษยชาติและส่งเสริมกับเกิดความเป็นธรรมในทางสังคม

ในขณะเดียวกับที่มีการลดผลกระทบและความสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการบริโภคหรือการผลิตใด ๆ ที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศวิทยา หรือกล่าวคือการผลิตและบริโภคที่ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ มีการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล และการมีส่วนร่วมของภาคสังคม ซึ่งเสาหลักของอุตสาหกรรมสีเขียวประกอบไปด้วย การทำให้อุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นสีเขียวมากขึ้น (Greening of the Industry) โดย การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในด้านประสิทธิภาพในการผลิต และการบริโภค การเพิ่มประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อมของการผลิตและการบริโภค ผ่านการจัดการของเสีย น้ำเสีย หรือการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์การลดผลกระทบทางสุขภาพ อาทิ การบริหารจัดการการใช้สารเคมีในการผลิต การขนส่ง และการบริโภคการสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวใหม่ (Creating the new Green Industry) การส่งเสริมและสร้างเทคโนโลยีสีเขียว อาทิ แผงวงจรแสงอาทิตย์ กังหันพลังงานลม โรงแยกและกำจัดขยะ การส่งเสริมและสร้างการผลิตเพื่อตอบสนองต่อตลาดภายในและการค้าระหว่างประเทศการส่งเสริมและสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวใหม่รวมไปถึงการผลิตสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคอุตสาหกรรมสีเขียว อาทิ การให้คำปรึกษาด้านการประหยัดพลังงานของภาคอุตสาหกรรม ฐานข้อมูลสารเคมี เป็นต้น

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230601173656279