Search
Close this search box.

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เผย สถานการณ์ GDP เกษตร ไตรมาส 1 ระบุ น้ำดี อากาศอำนวย ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว จีดีพีขยายตัวร้อยละ 5.5

share to:

Facebook
Twitter

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ปี 2566 ในช่วง มกราคม – มีนาคม นี้ ว่า สามารถขยายตัวร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 เนื่องจากปริมาณฝนตกสะสมตลอดปีที่ผ่านมา ทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำธรรมชาติเพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดที่อยู่ในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกและเพิ่มการผลิต ประกอบกับการสนับสนุนการนำแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในการพัฒนา

นอกจากนี้ ความต้องการสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ เนื่องจากกิจกรรมการผลิต การค้า และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ยังเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การผลิตทางการเกษตรปรับตัวดีขึ้น โดยสาขาพืช ยังคงเป็นสาขาหลักที่ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะข้าวนาปรังและอ้อยโรงงาน ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญ ในไตรมาส 1 ขณะที่สาขาปศุสัตว์ สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ขยายตัวเช่นกัน ส่วนสาขาประมง หดตัวเล็กน้อย เนื่องจากต้นทุนด้านราคาน้ำมันเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ส่งผลให้ผู้ประกอบการประมงออกเรือจับสัตว์น้ำลดลง และจากแนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 2.0 – 3.0 เมื่อเทียบกับปี 2565 โดยทุกสาขาการผลิต มีแนวโน้มขยายตัว จากปัจจัยสนับสนุนด้านสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยมากขึ้น ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและตามแหล่งน้ำตามธรรมชาติที่มีเพียงพอสำหรับการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และทำประมง การดำเนินนโยบายของภาครัฐและความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิต ยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ ส่งเสริมการรวมกลุ่มในการผลิตและแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เพิ่มช่องทางให้เกษตรกรเข้าถึงและใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ และบริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มที่ดี ช่วยสนับสนุนให้ความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่เกษตร การระบาดของโรคพืชและสัตว์ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นจากราคาปัจจัยการผลิตทั้งราคาน้ำมัน ปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืช และอาหารสัตว์ อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ความขัดแย้งทางระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ สงครามทางการค้า และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อาจชะลอตัว

 

ที่มาข้อมูล : https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230324153701469