อว.ยัน BCG Model ทำให้ไทยก้าวสู่ประเทศพัฒนาแล้ว คาด 10 ปี เศรษฐกิจหมุนเวียนจะสร้างมูลค่าจีดีพีเพิ่ม 1 ล้านล้านบาท ขณะที่เอกชนพร้อมหนุนการลงทุน จี้ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ เร่งปรับตัว รับกระแสลดโลกร้อน
ในวาระครบรอบ 50 ปี เครือเนชั่น สัมมนาออนไลน์ “Thailand Next episode 3: Circular Economy นวัตกรรมเพื่ออนาคต” ได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “BCG Model ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” พร้อมด้วยงานเสวนา “Circular Economy” จากผู้ทรงเกียรติหน่วยงานชั้นนำของไทย ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์
ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ชี้ให้เห็นว่า ในรอบหลายปีมานี้รัฐบาลไทยมีพันธกิจ มีความมุ่งมั่นทีชัดเจนทีจะผลักดันประเทศไทยให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2580 กระทรวง อว.ได้ตั้งเป้าและเป็นกลไกสำคัญในการเริ่มขยับประเทศไทยให้ออกจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง นำพาประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 10 ปี ข้างหน้า และกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ โดยเน้นการดำเนินงาน Circular Economy, B-Bio Economy และ Green Economy ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นต้นแบบของเศรษฐกิจ BCG คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวและจะทำให้เกิดโอกาสใหม่ๆ ในภาคธุรกิจ และภาคอุตสาหกรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อตัวธุรกิจและต่อสังคม
มีการประมาณการณ์เอาไว้ว่าอีก 10 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจหมุนเวียนจะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเติบโตขึ้นถึง 25% ส่วนไทยเองคาดว่าจะมีผลต่อมูลค่าจีดีพี (GDP) จะเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2570 หมายความว่า ทำเรื่อง Circular Economy ไม่ใช่เพื่อความดีเท่านั้น แต่ทำแล้วรายได้ประเทศ รายได้ธุรกิจจะเพิ่มขึ้นด้วย
ศก.หมุนเวียนช่วยดูดการลงทุน
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าว ในระยะต่อไป Circular Economy จะเป็นปัจจัยหลัก และข้อได้เปรียบในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาที่ประเทศไทย เพราะเป็นแนวโน้มที่อุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังจะมุ่งไปในทิศทางของการคิดค้นนวัตกรรม หรือผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม และในอนาคตหากไม่มีเรื่องนี้ จะส่งผลทำให้มีการซื้อขายได้อย่างยากลำบาก สังคมจะไม่ให้การยอมรับ นักลงทุนก็จะปฏิเสธ
อย่างไรก็ดี ภาครัฐจะต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนในเรื่องของกฎเกณฑ์หรือระเบียบหลายเรื่อง ที่ยังเป็นอุปสรรคในปัจจุบัน เช่น การกำจัดกากขยะอุตสาหกรรม หรือการส่งเสริมจาก BOI ก็ยังไม่มีความชัดเจน อีกทั้งควรจะต้องไปดูเรื่องของกฎหมายที่จะทำให้การเป็น circular economy มีข้อได้เปรียบในการเข้าสู่โครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ รวมถึงมาตรการสนับสนุนด้านภาษี
GC กุม 3.2 หมื่นล้านลุย BCG
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (จำกัด) มหาชน หรือ GC กล่าวว่า องค์กรต่างๆ ต้องเดินหน้าบริหารธุรกิจภายใต้แนวคิด Circular Economy เพราะนอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังเป็นเทรนด์ที่ผู้บริโภคยุคใหม่ ให้ความสำคัญอย่างมาก และต้องเร่งดำเนินการตั้งแต่นี้ เพราะจะทำให้เกิดผลตอบแทนกลับมาในอนาคต ทั้งการลดต้นทุน และการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค
สำหรับ GC เดินหน้าสู่แนวทาง Circular Economy ผ่าน 3 กลยุทธ์ ได้แก่ Smart Operating กระบวนการทำงานที่ชาญฉลาด เพื่อลดการใช้ทรัพยากร ลดการปล่อยของเสีย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, Responsible Caring ออกแบบผลิตภัณฑ์ยังยืน และ Loop Connecting เป็นการสร้างแนวร่วมเพื่อสร้างระบบนิเวศที่ดี โดยตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง 20% ภายในปี 2573 เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 โดยวางแผนในการลงทุนสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 และจะลงทุนเพิ่มขึ้นในทศวรรษต่อไป
ดาวจี้เอกชนเร่งปรับตัว
นายฉัตรชัย เลื่อนผลเจริญชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัยผลักดันที่สำคัญ ที่ทำให้เกิดกระแส Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ ทรัพยากรที่มีน้อยลง และประชากรที่มีมากขึ้น นอกจากรัฐบาลจะผลักดันแล้ว ยังพบว่าผู้บริโภคให้ความสนใจและมีการตื่นตัวมากขึ้น และเชื่อว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า การลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ จะเป็นตัวเร่งการดำเนินงาน ดังนั้นหากไม่เร่งปรับตัว เมื่อถึงวันนั้นจะปรับตัวไม่ทัน
ทั้งนี้ ภาคเอกชนขนาดใหญ่ต้องช่วยผลักดัน SME ในช่วงการเปลี่ยนผ่าน และควรนำแบบอย่างมาตรฐานจากประเทศที่พัฒนาแล้วมาปรับใช้ในไทย ถือเป็นตอบโจทย์การทำ Circular Economy ได้อย่างดี รวมทั้งมีการทำ CE INDEX จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าด้วย
ชี้กระแสรักษ์โลกเป็นตัวเร่ง
นายณรงค์ สีตลายน กรรมการผู้จัดการ เกรทวอลล์ มอเตอร์(ประเทศไทย) กล่าวว่า Circular Economy กับอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นได้นำมาใช้กับภาคการผลิตเพื่อลดการใช้ทรัพยากรและรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว เช่น มาตรการเรื่องแร่ใยหินที่ใช้ทำผ้าเบรก ลดสารโลหะหนักในกระบวนการทำสี รวมถึงลดการใช้สารตะกั่วในวัสดุอะลูมิเนียม แต่แนวคิดยุคใหม่และนโยบายของ เกรทวอลล์ มอเตอร์ ขยับมาถึงขั้นการออกแบบและการวิจัยพัฒนา เช่น การใช้แพลตฟอร์มเดียวกันในการพัฒนารถหลายรูปแบบและหลายขุมพลัง ซึ่งเป็นแนวทางของบริษัทในการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ๆ รวมถึงรถพลังงานใหม่ เช่น EV
ญี่ปุ่นอัดมาตรการจูงใจ
นายเคอิ คาวาฮาระ ผู้อำนวยการแผนกกลยุทธ์นวัตกรรมสีเขียวกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นได้กำหนดนโยบายอุตสาหกรรมใหม่ “กลยุทธ์การเติบโตสีเขียว” เพื่อบรรลุ “วัฏจักรเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่ดีงาม” ซึ่งขณะนี้ญี่ปุ่นมีนโยบายสำคัญๆ เพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างๆ ไปดำเนินการ ไม่ว่าการจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมสีเขียวขึ้น โดยเป็นกองทุนขนาด 2 ล้านล้านเยน เพื่อนำไปใช้พัฒนาเทคโนโลยี ตลอดจนการดำเนินการทางสังคมในระยะ 10 ปีข้างหน้า การนำระบบภาษีใหม่มาใช้ เพื่อส่งเสริมการลงทุนที่นำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยลดหย่อนภาษีสูงสุด 10% หรือการคำนวณค่าเสื่อมราคาเป็นพิเศษ 50% สำหรับการสร้างโรงงานสีเขียว และผลักดันการใช้พลาสติกชีวภาพ มีเป้าหมายให้ได้ประมาณ 2 ล้านตัน ภายในปี 2573
ชมสัมมนาออนไลน์ได้ที่ : https://www.youtube.com/watch?v=dX3L0sWqc-8
ที่มาข้อมูล : ฐานเศรษฐกิจ 31/10/2564
ลิงก์ข่าวเกี่ยวข้อง : https://bcg.in.th/50th-nation-anake/