Search
Close this search box.

“ไทยยูเนี่ยน” ต้นแบบนวัตกรรม “Zero Wastewater Discharge” ฝีมือคนไทย

share to:

Facebook
Twitter

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ชูโครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge) ของบริษัทไทยยูเนี่ยน เป็นศูนย์การเรียนรู้การพัฒนาต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ หลังพัฒนา “นวัตกรรมบำบัดน้ำทิ้ง” เป็นศูนย์ฝีมือคนไทย ลดต้นทุนใช้น้ำได้ปีละ 27.8 ล้านบาท นำน้ำกลับมาใช้ใหม่ 100%

อุตสาหกรรมอาหารถือเป็นหนึ่งในอีกหลายๆอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำจำนวนมาก ขณะที่อุตสาหกรรมทั่วโลกกำลังพยายามหาแนวทางประหยัดทรัพยากรน้ำ โดยการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งประหยัดต้นทุน ไม่ปล่อยน้ำเสียลงแหล่งน้ำ แถมยังช่วยสร้างความยั่งยืนในการปกป้องสิ่งแวดล้อมของโลกด้วย

แนวคิดเรื่องการนำน้ำกลับมาหมุนเวียนใช้ใหม่ จึงเป็นความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมเพื่อลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิตลง ของ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำอุตสาหกรรมอาหารทะเลระดับโลก และถือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมากเป็นอันดับต้นๆ ที่ใช้เวลานานกว่า 6 ปี ในการพัฒนาระบบน้ำ จนเป็นนวัตกรรมบำบัดน้ำทิ้ง ฝีมือคนไทยที่ประสบความสำเร็จแห่งแรกจนเป็นต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ หรือโครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge)

นายสุทธิเดช อมรเกษมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจปลา บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป

นายสุทธิเดช อมรเกษมวงศ์ กรรมการผู้จัดการ กลุ่มธุรกิจปลา บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ว่า บริษัทสนใจพัฒนาระบบการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่และได้ทดลองทำมาหลายปี แต่ก็ล้มเหลวมาตลอดจนประสบความสำเร็จเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาจากความร่วมมือด้านทุนวิจัย ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรม จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในโครงการลดการปล่อยน้ำทิ้งสู่สาธารณะเป็นศูนย์ (Zero Wastewater Discharge)

โครงการการพัฒนาต้นแบบระบบบำบัดน้ำทิ้งเป็นศูนย์ ถือเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการออกแบบ วิจัยและพัฒนา โดยใช้งบประมาณ รวม 12 ล้านบาท แบ่งเป็นการสนับสนุนงบประมาณ ผ่านแผนงานเศรษฐกิจหมุนเวียน (CE) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จำนวน 3.6 ล้านบาท และบริษัท ไทยยูเนี่ยนลงทุนจำนวน 8.4 ล้านบาท

“หัวใจสำคัญของความสำเร็จในครั้งนี้เกิดจากการให้ความสำคัญกับการประหยัดน้ำตั้งแต่ต้นทางในทุกกระบวนการผลิต รวมถึงการสร้างความตระหนักให้กับพนักงานทุกคนในการประหยัดน้ำก่อนที่จะเป็นน้ำทิ้งเข้าสู่ระบบการบำบัดจนสามารถนำน้ำกลับมาใช้ได้อีกครั้ง”

สิ่งสำคัญที่ถือเป็นแนวทางของความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมบำบัดน้ำเสียของบริษัทไทยยูเนี่ยน คือการเริ่มต้นประหยัดน้ำตั้งแต่ต้นทาง โดยการใช้ระบบบริหารจัดการที่ต้นทาง ทั้งในส่วนวิศวกรรมและกระบวนการผลิตให้ใช้น้ำน้อยที่สุดในทุกกระบวนการ พร้อมดูแลตรวจสอบการใช้น้ำให้เกิดของเสียน้อยที่สุดก่อนส่งน้ำที่ผ่านกระบวนการผลิตไปสู่บ่อบำบัดน้ำเสีย

“ผมคิดว่าประหยัดตั้งแต่ต้นทาง และทำให้พนักงานทุกคนตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าไม่เพียงแค่ในโรงงาน และทำให้เขามีพฤติกรรมประหยัดน้ำที่บ้านด้วย”

 

ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://thaipublica.org/2024/04/tu-zero-wastewater-discharge/

บทความที่เกี่ยวข้อง