Search
Close this search box.

วีกรีน ถอดบทเรียนความสำเร็จ เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยด้วย Circular Economy Management System (CEMS) (ตอนที่ 2)

share to:

Facebook
Twitter

มาถึงอีกหนึ่ง Key Success Person ของโครงการนี้ รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการ วีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการการพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรเพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่ได้มาถอดบทเรียนความสำเร็จของโครงการที่พร้อมต่อยอดสู่การยกระดับมาตรฐานการจัดการ Circular Economy ของไทย ให้ก้าวสู่การยอมรับในระดับสากล

เจาะลึกภารกิจการยกระดับผู้ประกอบการไทยด้วย โครงการ CEMS
“สำหรับการดำเนินโครงการวิจัยฯ นี้ ถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ที่เราได้รับการสนับสนุนจากทาง บพข. และ สมอ. ซึ่งการที่ สมอ. ซึ่งเป็นหน่วยงานในการพัฒนามาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ ได้พัฒนาระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร เล่ม 2 ข้อกำหนด (มตช. 2 เล่ม 2-2564) นับว่าเป็นประเทศแรกในอาเซียนและน่าจะเป็นลำดับต้นๆในกลุ่มประเทศเอเชีย และเชื่อว่าในระดับโลก ประเทศไทย ก็จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามาตรฐานและระบบรับรองในเรื่องของ Circular Economy Management System for Business ในขณะเดียวกัน มาตรฐาน ISO ก็กำลังอยู่ในการพัฒนาและคาดว่าจะมีความก้าวหน้าจาก สมอ. มารายงานให้ผู้ประกอบการไทยทราบในเร็วๆ นี้” รศ.ดร.รัตนาวรรณ เกริ่นสรุปให้เห็นถึงความก้าวหน้าและผลลัพธ์ที่น่าภูมิใจของ โครงการ CEMS พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า
“เชื่อว่าหลายท่านทราบดีว่าเรื่อง “เศรษฐกิจหมุนเวียน” ได้รับการกำหนดให้เป็นหนึ่งในนโยบายระดับชาติ สมอ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่พัฒนาการรับรองมาตรฐาน ก็มองว่า เรื่องของมาตรฐานนี้เป็นกลไกสำคัญอย่างหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้เกิดการดำเนินงานจากนโยบายถ่ายทอดเป็นแนวทางการปฏิบัติที่ดี”

รศ.ดร.รัตนาวรรณ มั่งคั่ง ผู้อำนวยการ วีกรีน คณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการการพัฒนาระบบการตรวจสอบและรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรเพื่อผลักดันนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน
“โดยเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องมีการพัฒนามาตรฐานนี้เกิดจากความต้องการของภาคเอกชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเพื่อทำการตลาด ดังนั้น มาตรฐานนี้จึงพัฒนาขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมให้บรรลุนโยบาย Circular Economy ของไทย นั่นคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มจากการทำเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยวัตถุประสงค์ของโครงการนี้ คือ
มุ่งเป้าสู่การประยุกต์ใช้จริง ตามข้อกำหนดของ สมอ. และเพื่อยกระดับธุรกิจภายใต้แนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
พัฒนาผู้ที่มีความสามารถในการเป็นที่ปรึกษา ที่มีองค์ความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติและเข้าใจในความสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร
พัฒนาผู้ตรวจประเมิน ให้มีองค์ความรู้และทักษะในการตรวจประเมินความสอดคล้องตามข้อกำหนดของมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กร
พัฒนาระบบการตรวจสอบรับรองสำหรับระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรของประเทศไทยให้เป็นที่ยอมรับในระดับชาติและสากล ตลอดจนจัดทำคู่มือแนวทางการปฏิบัติที่ดีของระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนองค์กรสำหรับอุตสาหกรรมตามข้อกำหนดของมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติ
“โดยที่ปรึกษาที่เข้ามาร่วมโครงการมีทั้งที่ปรึกษาจากหน่วยงานภาครัฐ ที่ปรึกษาจากภาคเอกชน และที่ปรึกษาอิสระ จากนั้นมีกิจกรรมการลงพื้นที่ให้คำปรึกษาที่โรงงาน onsite โดยมีการให้คำแนะนำ และมีการหารือกับที่ปรึกษาเป็นระยะ เพราะมักจะมีคำถามจากที่ปรึกษาเกี่ยวกับการตีความข้อกำหนด ซึ่งหลายข้อต้องทำความเข้าใจโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อกำหนดที่หลายคนมีความกังวลใจมากที่สุดคือ นวัตกรรม เพราะทุกคนมองเห็นว่า นวัตกรรมเป็นหัวใจสำคัญที่จะนำ นโยบาย Circular Economy ไปสู่การปฏิบัติจริง”

“ต่อมาก็มีการเตรียมความพร้อมคู่ขนานด้วยการจัดประชุมกับหน่วยตรวจรับรองแนวทางการตรวจประเมิน แบบ Non-Accredited เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมแนวทางการตรวจประเมินที่จะได้รับการพัฒนาในลำดับต่อไป ซึ่งทาง สมอ. จะเป็นผู้ชี้แจงต่อว่า CB ที่เข้าร่วมโครงการแล้ว มีขั้นตอนอะไรบ้างที่ต้องดำเนินการเพื่อที่จะให้บริการตรวจรับรองตามมาตรฐาน มตช. 2 เล่ม 2 แบบ Accredited”
“และจากนั้นก็เป็นการรับการตรวจประเมินจากผู้ตรวจประเมินภายใน เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับการตรวจประเมินจากผู้ตรวจประเมินภายนอก ซึ่งในตอนนี้จะมี CB ที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม ทั้งนี้เรายังได้กำหนดเป้าหมายที่สำคัญ หรือ Ultimate Goal ไว้เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้น แต่ละบริษัทจำเป็นต้องกำหนดบริบทขององค์กรทั้งประเด็นปัญหาภายในและภายนอก รวมทั้งความต้องการจของลูกค้าเพื่อทำการตลาดให้ตรงประเด็น”
“โดยผลผลิตของโครงการนี้ มีบริษัทที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กรเป็นกลุ่มแรกของประเทศไทย จำนวน 26 บริษัท นอกจากนี้ พัฒนาผู้มีความสามารถในการเป็นที่ปรึกษา (Consultants) ให้มี จำนวน 34 คน พัฒนาผู้ตรวจประเมิน (Auditors) จำนวน 20 คน จากหน่วยตรวจรับรอง (CB: Certification Body) จำนวน 4 แห่ง ที่พร้อมดำเนินการขยายขอบเขตการให้บริการตรวจประเมินและให้การรับรองระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร”

“และในภาพรวมมีผู้ที่ได้รับการพัฒนาทักษะใหม่จำนวน 500 คน และมีผู้ที่ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์เชิงปฏิบัติผ่านการเรียบเรียง คู่มือแนวทางเชิงปฏิบัติที่ดีตามข้อกำหนดมาตรฐานระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับองค์กร ส่วนผลลัพธ์ของโครงการ เราคาดว่าจะนำไปสู่ประโยชน์สำคัญใน 3 เรื่อง คือ”
หนึ่ง การลดปริมาณการใช้วัสดุใหม่ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ การลดปริมาณของเสียที่จะต้องนำไปกำจัด การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเพิ่มมูลค่าจากการประยุกต์ใช้ในระบบการจัดการเศรษฐกิจหมุนเวียน
สอง การสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่คุณค่า ด้วยระบบการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานการตรวจสอบและรับรองแห่งชาติของประเทศไทยในสาขาเศรษฐกิจหมุนเวียน
สาม การสร้างกำลังคนด้าน Circular Economy ผ่านการถ่ายทอดความรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมโครงการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนสู่การปฏิบัติและผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
“ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโครงการวิจัยนี้มีทั้งต่อ ด้านเศรษฐกิจ เช่น สนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และยังสนับสนุนให้ประเทศไทยมี GDP เพิ่มขึ้นจากการส่งสินค้าไปต่างประเทศได้มากขึ้น”
“ด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีสำหรับประชาชนและพัฒนาสังคมสู่สังคมคาร์บอนต่ำ”
“ด้านสังคม เช่น สร้างสังคมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ประหยัดงบประมาณในการจัดการของเสียและประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีจากคุณสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น”

 

ที่มาข้อมูล/อ่านทั้งหมดได้ที่ : https://www.salika.co/2024/03/14/circular-economy-management-system-for-thailand-part-2/