เมื่อวันที่ 22 มี.ค. 68 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย แสดงวิสัยทัศน์ในงานการประชุม “E-SAN Life Drive: ขับเคลื่อนอีสาน สู่อนาคต” โดยมี นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ กรรมการกฤษฎีกา นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมด้วย ณ ศรีพฤทเธศวรเธียเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ อ.เมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ
นายอนุทิน กล่าวว่า E-SAN Life Drive มีความพิเศษ เพราะเป็นการมาประชุมร่วมกันจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคเอกชน ข้าราชการประจำ นักการเมือง ภาคประชาชน ภาคสื่อมวลชน ที่เราต้องรวมพลังเครือข่ายทั้งหมดนี้ ขับเคลื่อนให้ความเจริญด้านเศรษฐกิจบรรลุผลสัมฤทธิ์ เพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ซึ่งวันนี้เรามาแลกเปลี่ยนอนาคต แลกเปลี่ยนมุมมอง เพื่อให้ชีวิตของพี่น้องประชาชนก้าวไปได้อย่างมั่นคง โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทยมารับฟังความเห็นจากผู้นำที่มีบทบาทด้านเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด เพื่อฝ่ายนโบายสามารถสนับสนุนได้อย่างเต็มที่และมากขึ้น และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากจังหวัดต่าง ๆ มาร่วมด้วย เพื่อเขาสามารถสะท้อนความเห็น มุมมองประชาชนจังหวัดต่าง ๆ อย่างเต็มที่ เพื่อเพิ่มโอกาส เสริมสร้างรายได้ให้กับประชาชน
“ตามกรอบแผนพัฒนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พ.ศ. 2566-2570 ให้ทิศทางไว้ว่า จะต้องพัฒนาสู่การเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาใน 3 มิติ ได้แก่ “Green : ฐานการผลิต” ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เกษตรปลอดภัย เกษตรอินทรีย์ขับเคลื่อนการพัฒนาด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) รวมถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน “Gate : เป็นประตูเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน” ทั้งการเชื่อมโยงเศรษฐกิจชายแดน ระเบียงเศรษฐกิจพัฒนาการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว โลจิสติกส์ และ “Growth : การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน” โดยใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีนวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”
นายอนุทิน ย้ำว่า ความเข้าใจตลาดเป็นสิ่งสำคัญ ตนจึงได้ย้ำเสมอว่า ข้าราชการของกระทรวงมหาดไทยต้องใกล้ชิดกับภาคเอกชนด้วย เพื่อจะได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายของตลาดในแต่ละช่วง เช่น รองผู้ว่า ด้านเศรษฐกิจ ต้องเพิ่มพูนองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจ การตลาด โอกาสการลงทุน การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของพี่น้องประชาชนจังหวัดที่รับผิดชอบดูแลอยู่ให้มีมูลค่าเพิ่มมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ด้วยการนำต้นทุนทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นและสิ่งที่จับต้องไม่ได้ อย่างภาคบริการและการท่องเที่ยว ซึ่งต้องหาไอเดียว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสิ่งที่มีอยู่ได้อย่างไร
เฉกเช่นตัวอย่างล่าสุดที่บุรีรัมย์เมื่อ 3 วันก่อน คือ งาน “Colors of Buriram” เป็นงานที่จัดขึ้นเพื่อสืบสาน รักษา และต่อยอด แนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตนได้เห็นการนำเศษผ้ามาทำแพ็คเกจจิ้ง มาทำรองเท้า มาทำกระเป๋า และแม้ว่าจะมีลายผ้ามาจากชาวบ้านต่าง ๆ อย่างสวยงาม แต่มันมาตัดกันที่ packaging สวยงาม บางกล่องเป็นกล่องแม่เหล็ก เอาผ้าผืนไหนใส่มันก็เพิ่มมูลค่าทันทีโดยอัตโนมัติ เป็นการอุดช่องโหว่เพื่อไม่ให้เสียโอกาส ดังนั้น “ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีความละเอียดละออด้วย” เพื่อชาวบ้านจะได้ไม่เสียโอกาส ดังหนังสือสามเกลอ (พล นิกร กิมหงวน) ภรรยาของ 3 เกลอ คือ นันทา ประไพ นวลละออ และเมื่อใครถามว่า ภรรยาใครสวยที่สุด ก็ต้องเป็น “ละออ” จึงขอให้ผู้ว่าฯ 8 จังหวัด และจังหวัดอื่น ๆ ต้องให้ความสำคัญกับทุกด้าน เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมจังหวัดท่าน และขายผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนทางวัฒนธรรมมีภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย และเมื่อสนับสนุนอย่างเต็มที่แล้ว ก็จะต่อยอดไปถึงสิ่งที่เราสามารถเพิ่มรายได้ขึ้นมาอีก นั่นคือ ภาคบริการการท่องเที่ยว โดยคนที่มาจับจ่ายใช้สอย ซื้อของภูมิปัญญา ซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นของไทย และได้มาท่องเที่ยว มาใช้บริการ สองคำนี้ก็จะรวมกัน และทำให้เศรษฐกิจขยายตัวขึ้น เราต้องช่วยกันทำทุกวิถีทางให้พัฒนาสินค้าเราให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตลอดเวลา
การประชุมครั้งนี้ มีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ อำนาจเจริญ ยโสธร อุบลราชธานี นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ผู้แทนสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงบประมาณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ภาคเอกชน ภาคประชาชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชน กว่า 1,000 คน ร่วมรับฟัง
ที่มาภาพ/ข้อมูล : https://www.thaigov.go.th/news/contents/ministry_details/94636